Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๗ ความเป็นพหูสูต



ผู้ใดหมั่น   ศึกษา   หาความรู้    

เพื่อฟื้นฟู   ปัญญา   ให้รู้ยิ่ง

ใฝ่ในธรรม   รู้ตาม   ความเป็นจริง  

รู้ทุกสิ่ง   เกิดดับ   ไม่กลับมา

เป็นผู้รู้   รอบลึก   และกว้างไกล   

รู้แก้ไข   ใส่ใจ   พิจารณา  

สติแคล่ว-   คล่องคุ้ม   ครองชีวา     

ได้ชื่อว่า   พหู-   สูตนั่นแล 


พหูสูต  น.  ผู้มีความรู้เพราะได้สดับตรับฟังหรือศึกษาเล่าเรียนมามาก  (ป.พหูสฺสุต)

ที่มา  พจนานุกรมอีเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒


...........................................................................................................................


ลักษณะความรู้ที่สมบูรณ์ของพหูสูต

๑.  รู้ลึก  หมายถึง  รู้เรื่องราวลึกซึ้งละเอียด  รู้เหตุในอดีตของความเป็นมา

๒.  รู้รอบ  หมายถึง  เป็นผู้ช่างสังเกต  รู้สิ่งต่าง ๆ  รอบตัว  เช่น  สภาพภูมิประเทศ  ดินฟ้า อากาศ  ผู้คนในชุมชน  ในสังคมและความเป็นไปของเหตุการณ์ต่าง ๆ  รอบตัว

๓.  รู้กว้าง  หมายถึง  รู้สิ่งรอบตัว  แต่ละอย่างที่รู้ก็รู้อย่างละเอียด  รู้ถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องของสิ่งนั้นกับสิ่งอื่น ๆ ด้วย

๔.  รู้ไกล  หมายถึง  มองการณ์ไกล  รู้ถึงผลที่จะติตามมาในอนาคตด้วย

การที่จะเป็นพหูสูตที่แท้จริงนั้น  จะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้  ทั้งทางโลกและทางธรรมด้วย


พหูสูต  มีองค์  ๕  คุณสมบัติที่ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นพหูสูต  มีดังนี้

๑.  พหูสสุตา  ฟังมาก  คือ  ได้สดับตรับฟังและได้เล่าเรียนไว้มาก

๒.  ธดา  จำได้  คือ  จับหลักหรือสาระได้  ทรงจำความไว้ได้อย่างแม่นยำ

๓.  วจสา  ปริจิตา  คล่องปาก  คือ  ท่องบ่นหรือใช้พูดอยู่เสมอจนแคล่วคล่องและชัดเจน

๔.  มนสานุเปกขิตา  เพ่งขึ้นใจ  คือ  ใส่ใจนึกคิดพิจารณาจนประจักษ์แจ้ง  นึกถึงเมื่อใด  ก็ปรากฏเนื้อความชัดเจน

๕.  ทิฏฐิยา  สุปฏิวิทธา  ขบได้ด้วยทฤษฎี หรือแทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ (ความเห็นถูก)  คือ  เข้าใจลึกซึ้ง  มองเห็นประจักษ์ด้วยปัญญา  ทั้งในแง่ความหมายและเหตุผล


ลักษณะผู้เป็นพหูสูตไม่ได้

๑.  เป็นคนมีราคจริต

๒.  เป็นคนมีโทสจริต

๓.  เป็นคนมีโมหจริต

๔.  เป็นคนขี้ขลาด

๕.  เป็นคนหนักในอามิส

๖.  เป็นคนจับจด

๗.  เป็นนักเลงสุรา

๘.  เป็นคนมีอุปนิสัยเหมือนเด็ก


อานิสงส์ของการเป็นพหูสูต

๑.  ทำให้สามารถเป็นที่พึ่งของตนได้

๒.  ทำให้สามารถเป็นผู้นำได้

๓.  ทำให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง

๔.  ทำให้บริบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ  สุข

๕.  ทำให้ได้รับคำชมเชย  ได้รับการยกย่องและความเกรงใจ

๖.  ทำให้มีปัญญาติดตัวข้ามภพชาติ

๗.  เป็นพื้นฐานแห่งศิลปะและความสามารถอื่น ๆ อีกด้วย

๘.  ทำให้บรรลุธรรมขั้นอริยบุคคลได้




..........................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น