Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน


                               ควรอดทน              ต่อสิ่ง              มากระทบ   
                               ไม่สู้รบ                    ตอบโต้           โอ้อวดตน   
                               ไม่โกรธตอบ          ผู้ใด                ให้หมองมน    
                               เกิดเป็นคน             ทั้งที                ดีให้ได้     
                               ใจหนักแน่น           ดุจดั่ง              ปฐพี       
                               ไม่ยินดี                   ยินร้าย            ใครทำไว้
                               ฝึกสติ                     คุ้มครอง         ป้องกันภัย    
                               ไม่ยากไร้               อับจน              เพราะทนเป็น


ความอดทน  หมายถึง  อะไร ?

ความอดทน (ขันติ)  หมายถึง  การรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้   ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนาหรือไม่เป็นที่พึงปรารถนาก็ตาม  มีความมั่นคงหนักแน่นเหมือนกับแผ่นดิน  ซึ่งไม่่มีความรู้สึกหวั่นไหวต่อสิ่งใด ๆ  ที่มากระทบ  เช่น  เมื่อมีใครเทของสกปรก  ของเสียหรือของหอม  แผ่นดินก็ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ  โต้ตอบ

ความอดทน (ขันติ)  เป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง  เพราะเป็นคุณธรรมนำมาซึ่งความสำเร็จกิจทั้งปวง ทั้งทางโลกและทางธรรม  ขันติเป็นคุณธรรมที่ขจัดอุปสรรคต่าง ๆ   เป็นเครื่องท้าทายความสามารถ  เป็นเครื่องขจัดความท้อถอย  ความเบื่อหน่าย  หดหู่  ขี้เกียจ  เพราะฉะนั้น  ขันติจึงเป็นคุณธรรมที่ทุกท่านควรอบรมเจริญให้มีพละกำลังยิ่ง ๆ  ขึ้น  เพื่อความเจริญก้าวหน้าและเพื่อความสำเร็จในชีวิต


ลักษณะความอดทนที่ถูกต้อง  มี ๔ ประการ  ดังนี้

๑.  มีความอดกลั้น  คือ  เมื่อถูกคนพาล  ก็ให้กระทำราวกับว่าไม่ได้ยิน  ไม่ใส่ใจในเสียงนั้น  ใส่ใจในสิ่งที่ทำให้ตนสบายใจ  สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง  เช่น  ฝึกอบรมเจริญศีล  เจริญสติ  เจริญสมาธิและปัญญา  ให้มีกำลังยิ่ง ๆ  ขึ้นไป

๒.  เป็นผู้ไม่ดุร้าย  คือ  เป็นผู้สามารถข่มความโกรธไว้ได้  อดทนที่จะไม่โกรธตอบ  อดทนที่จะไม่ผูกโกรธ  อาฆาตพยาบาท  จองเวร  ไม่ทำร้ายตอบ

             ท้าวสักกะเทวราชได้ตรัสเตือนใจว่า


  
  "ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธก่อนแล้ว

ผู้นั้นกลับเป็นคนเลวกว่าผู้ที่โกรธก่อน

ผู้ที่ไม่โกรธต่อบุคคลผู้กำลังโกรธอยู่

ย่อมชื่อว่า  เป็นผู้ชนะสงครามอันชนะได้ยากยิ่ง"

๓.  ไม่ปลูกน้ำตาให้แก่ใคร  คือ  ไม่ก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น  ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเจ็บแค้นใจจนน้ำตาไหล  ด้วยอำนาจความเกรี้ยวกราดของตน

๔.  มีใจเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์  คือ  มีปีติอิ่มเอิบใจเสมอ  ไม่มีความพยาบาท ไม่โทษใครทั้งนั้น  พยายามอดทนทำงานทุกอย่างด้วยใจเบิกบานเสมอ

ลักษณะความอดทนนั้น  มีคำโบราณท่านกล่าวไว้ว่า

    "ปิดหูซ้ายขวา  ปิดตาสองข้าง
                                                    
                                                   ปิดปากเสียงบ้าง  นอนนั่งสบาย"



ประเภทของความอดทน  แบ่งตามเหตุที่มากระทบได้เป็น ๔  ประเภท  ดังนี้

๑.  อดทนต่อความลำบากตรากตรำ  เป็นการอดทนต่อสภาพธรรมชาติ  ดินฟ้าอากาศ  ความหนาว  ความร้อน  ฝนตก  แดดออก  ก็อดทนทำงานจนสำเร็จ  ไม่ด่าว่าหรือโทษผู้อื่น 

๒.  อดทนต่อทุกขเวทนา  เป็นการอดทนต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย  ความไม่สบายกาย  ความเจ็บปวด  หรือปวดเมื่อย  ผู้ไม่มีความอดทนต่ออาการเจ็บปวดทางกาย  ทางใจก็จะป่วยไปด้วย  ในที่สุดก็กลายเป็นป่วยหนักเป็นทวีคูณ  ทำให้รักษายากขึ้นได้

๓.  อดทนต่อความเจ็บใจ  เป็นการอดทนต่อความโกรธ  ขัดเคือง  ความไม่พอใจ  ความไม่สบายใจ  อันเกิดมาจากคำพูดของผู้อื่น  กิริยามารยาทที่ไม่งาม  การบีบคั้นจากผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน  ความอยุติธรรมต่าง ๆ ในสังคม  ระบบงานต่าง ๆ  ที่ไม่คล่องตัว  

๔.  อดทนต่ออำนาจกิเลส  เป็นการอดทนต่ออารมณ์อันน่าใคร่  น่าเพลิดเพลิด  น่าหลงใหล  อดทนต่อการกระทำที่ไม่สมควรทำ  เช่น  อดทนต่อการไม่เที่ยวเตร่  ไม่เสพสิ่งเสพย์ติด  ไม่เล่นการพนัน  ไม่คอร์รัปชั่น  ไม่ผิดศีล  ไม่คดโกง  ไม่ขี้โอ่  ไม่ขี้อวด  ไม่รับสินบน เป็นต้น

                       
วิธีฝึกตนให้มีความอดทน  มีดังนี้

๑.  ต้องคำนึงถึงหิริโอตตัปปะให้มาก  เมื่อมีความละอายเกรงกลัวต่อบาปอย่างเต็มที่  ความอดทนย่อมเกิดขึ้นได้  

๒.  ต้องรู้จักเชิดอารมณ์ที่มากระทบนั้นให้สูงขึ้น  คือ  นึกเสียว่า  ที่เขาทำแก่เราอย่างนั้นก็ดีแล้ว  เขาด่าก็นึกเสียว่าดีกว่าเขาดีกับเรา  เขาดีก็นึกเสียว่าดีกว่าเขาฆ่า  

๓.  ต้องฝึกสมาธิมาก ๆ  เพราะเหตุว่า ขันติและสมาธิเป็นคุณธรรมที่เกื้อหนุนกัน  ขันติจะหนักแน่นก็จะต้องมีสมาธิรับรอง  สมาธิจะก้าวหน้าก็ต้องมีขันติเป็นพื้นฐาน  ขันติอุปมาเหมือนมือซ้าย  สมาธิอุปมาเหมือนมือขวา  จะล้างมือ  มือทั้งสองข้างจะต้องช่วยกันล้าง  จึงจะสะอาดดี


อานิสงส์การมีความอดทน

๑.  ทำให้กุศลธรรมทุกชนิดเจริญขึ้นได้

๒.  ทำให้เป็นคนมีเสน่ห์  เป็นที่รักของคนทั้งหลาย

๓.  ทำให้ตัดรากเหง้าแห่งความชั่วทั้งหลายได้

๔.  ทำให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกอิริยาบถ

๕.  ชื่อว่าได้เครื่องประดับอันประเสริฐของนักปราชญ์

๖.  ทำให้ศีลและสมาธิตั้งมั่น

๗.  ทำให้ได้พรหมวิหารโดยง่าย

๘.  ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย


.........................................








                                             


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น