Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๑๕ การให้ทาน


การให้ทาน   เป็นการ   เสียสละ   

ทั้งชำระ   จิตใจ   ที่ติดข้อง

ให้ด้วยใจ   หวังดี   ไม่มีสอง     

ไม่หวังปอง   สิ่งของ   สนองตอบ

ทานเลิศ   ประเสริฐกว่า   ทานใดใด  

ทานอะภัย   ทำใจ   ตั้งไว้ชอบ

สังฆทานดี   มีความ   นบนอบ   

ต้องประกอบ   กายใจ   ที่ผ่องใส

ธรรมทาน   เป็นการ   ให้ความรู้    

อีกฟื้นฟู   ความคิด   ความเข้าใจ

เป็นทาน   ที่ยิ่งใหญ่   กว่าทานใด   

ทานอืนไหน   หรือจะสู้   ธรรมทาน


การให้ทาน  คือ  การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น  โดยไม่หวังผลตอบแทน  ให้ด้วยความเต็มใจ  ยินดีที่จะให้  เมื่อให้ไปแล้วไม่คิดเสียดาย  ชีวิตในแต่ละวันของมนุษย์อยู่ด้วยการให้ทาน คือการเสียสละเพื่อช่วยเหลือกันและกัน  นับตั้งการให้ทานภายในครอบครัว  การอยู่รวมกันจะมีความสงบสุขได้ก็เพราะทุกคนรู้จักการให้  การเสียสละเพื่อประโยชน์และความสุขของผู้อื่น  ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน  " การให้ทาน"  จึงจะเป็นมงคล  


ทาน เป็นสิ่งจรรโลงโลกให้มีความสันติสุข  เป็นการแสดงออกซึ่งเมตตาจิต   การให้ด้วยความเมตตา ย่อมไม่หวังผลตอบแทน   เพราะเหตุว่า  เมตตาเป็นสภาพธรรมฝ่ายกุศล  มีผลเป็นกุศล (บุญ ตือ ความสุข)   ส่วนการให้ที่หวังผลตอบแทนนั้น  เป็นความติดข้องในความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลและสิ่งของอยู่ จึงเป็นทานที่ประกอบด้วยอกุศลจิต  ก็มีผลเป็นอกุศล  (บาป  คือ ความไม่สบายใจ  ทุกข์ใจ)  


ทานแบ่งออกเป็น  ๓  ประเภท  ดังนี้

๑.  อามิสทาน  คือ  การสละวัตถุ  สิ่งของต่าง ๆ  หรือทรัพย์  เพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น

๒.  ธรรมทาน  คือ  การให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมแก่ผู้ที่สนใจ  หรือแก่ผู้ที่ยังไม่เข้าใจได้เข้าใจถูกต้อง

๓.  อภัยทาน  คือ  การยกโทษ  ไม่โกรธตอบ  ไม่จองเวร  ไม่พยาบาท  ผู้ที่ได้ล่วงเกิน  ก้าวร้าว  หรือกระทำไม่ดีกับเรา


ปัจจัยที่ทำให้ทานมีผลมาก  มี ๓  ประการ  ดังนี้

๑.  วัตถุทานต้องบริสุทธิ์  หมายถึง  ต้องเป็นสิ่งของที่ได้มาโดยสุจริตและเป็น
ของที่มีประโยชน์แก่ผู้รับ  

๒.  เจตนาบริสุทธิ์  หมายถึง  ผู้ให้มีความตั้งใจ  จงใจและมีความยินดีในทาน  
 ก่อนให้และขณะให้ทานมีจิตผ่่องใส   หลังจากให้ไปแล้ว  ก็มีจิตผ่องใสเบิกบาน  
เมื่อนึกถึงทานที่ทำไปแล้ว  ก็เกิดปีติเสมอ

๓.  บุคคลบริสุทธิ์  หมายถึง  การให้ทานกับบุคคลที่มีศีลธรรม  ประพฤติปฏิบัติดี  
ทานจึงจะมีผลมาก  นอกจากนั้น  ผู้ให้ทานก็จะต้องมีศีลธรรมด้วยเช่นกัน


การให้ทานที่มีผลเป็นอกุศล (บาป)   มี  ๕  ประการ  ดังนี้

๑.  ให้สุรา  ยาเสพติด  ของมึนเมา  เช่น  บุหรี  ฝิ่น  เหล้า  กัญชา  ยาบ้า

๒.  ให้อาวุธ  ของมีคม  เช่น  ปืน  มีด  ดาบ  ธนู ฯลฯ

๓.  ให้มหรสพ  หรือสิ่งบันเทิงสนุกสนานทุกประเภท  เช่น  พาไปเที่ยวงานรื่นเริง  
ดูหนังดูละคร  ฯลฯ

๔.  ให้สัตว์เพศตรงข้าม  เช่น  หาสัตว์หรือคนเพศตรงข้าม  บำเรอความสุขทางเพศ

๕.  ให้ภาพหรือสิ่งพิมพ์ลามก  รวมทั้งสิ่งยั่วยุกามรมณ์ทั้งหลาย


อานิสงส์ของการให้ทาน

๑.  เป็นที่มาของสมบัติทั้งหลาย

๒.  เป็นที่ตั้งแห่งโภคทรัพย์ทั้งปวง

๓.  ผู้ให้ย่อมได้รับความสุข

๔.  ผู้ให้ยอมเป็นที่รักของคนหมู่มาก

๕.  ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้

๖.  ทำให้เป็นผู้มีเสน่ห์

๗.  ทำให้เป็นที่น่าคบหาของคนดี

๘.  ทำให้เข้าสังคมได้คล่องแคล่ว

๙.   ทำให้แกล้วกล้าอาจหาญในทุกชุมชน

๑๐. ทำให้มีชื่อเสียงเกียรติคุณดี

๑๑. แม้ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ 




ผู้ให้ของที่พอใจ  ย่อมได้ของพอใจ

ผู้ให้ของที่เลิศ  ย่อมได้ของที่เลิศ

ผู้ให้ของที่ด่ี  ย่อมได้ของที่ดี

ผู้ให้ของที่ประเสริฐ  ย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ

นระใดให้ของเลิศ  ให้ของที่ดี  และให้ของที่ประเสริฐ

นระนั้นจะเกิด  ณ  ที่ใด ๆ  ย่อมมีอายุยืน  มียศ  ณ  ที่นั้น ๆ

(มนาปทายีสูตร)     

....................................................................




ผู้ให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง

ผู้ให้ผ้าชื่อให้วรรณะ

ผู้ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข

ผู้ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ

ผู้ให้ที่พักอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง

ผู้ให้ธรรมทานชื่อว่าให้อมฤตธรรม

(กินททสูตร)



........................................................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น