การอยู่ร่วมกัน ด้วยความ ราบรื่น
ต้องไม่ฝืน หลักธรรม คำสั่งสอน
รู้รัก รู้เมตตา แลอาทร
รู้ผันผ่อน ผิดใจ อะภัยกัน
การเอื้อเฟื้อ เผิ่อแผ่ แก่ญาติตน
เพื่อทุกคน ได้รับ ความสุขสันต์
ให้เพื่อ สร้างสรรค์ สามัคคีกัน
ต้องแบ่งปัน ด้วยดี มีปัญญา
ญาติ คือ ใคร ?
ญาติ แปลว่า คนคุ้นเคย คนใกล้ชิด หมายถึง บุคคลที่คุ้นเคยและไว้ใจกันได้
ญาติแบ่งเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
๑. ญาติทางโลก แบ่งเป็น ๒ พวก คือ
- ญาติโดยสายโลหิต เช่น ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง หลาน เหลน ฯลฯ
ส่วนพ่อแม่ ลูก ภรรยาย สามี ถือว่าเป็นคนใกล้ชิดเรามากที่สุด ขอให้ยกไว้ต่างหาก เพราะเรามีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้ต่างออกไป ซึ่งได้มีรายละเอียดอยู่ในมงคลที่ ๑๑, ๑๒, ๑๓ แล้ว
- ญาติโดยความใกล้ชิดคุ้นเคย เช่น เป็นเพื่อนสนิทสนมกับเราโดยตรง หรือสนิทสนมกับญาติทางสายโลหิตของเรา
๒. ญาติทางธรรม หมายถึง ผู้เป็นญาติเพราะเหตุ ๔ ประการ คือ
- เป็นญาติเพราะบวชให้เป็นภิกษุ
- เป็นญาติเพราะบวชให้เป็นสามเณร
- เป็นญาติเพราะให้นิสสัย (พิธีกรรมของสงฆ์ที่พระอุปัชฌาย์ให้แก่ศิษย์)
- เป็นญาติเพราะสอนธรรมะให้
วิธีสังเกตุลักษณะของญาติแท้ ๆ
การเป็นญาติกันนั้น ไม่เพียงแต่รู้จักกันเฉพาะเวลาที่ตนมีความเดือดร้อนเท่านั้น นึกถึงเขาก็เพื่อที่จะขอความช่วยเหลือจากเขาเท่านั้น ลักษณะเช่นนี้ไม่จัดว่าเป็น "ญาติ" การเป็นญาติที่แท้จริง จะต้องมีความผูกพันกับบุคคลที่ตนนับถือ ดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีการถามข่าวคราวทุกข์สุขตามโอกาสบ้าง เมื่อเขาได้รับความเดือดร้อน ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะคนที่รู้จักและคุ้นเคยกันดี ยามที่เราเดือดร้อนเขาก็ช่วยสงเคราะห์ เมื่อเรามีความเจริญก้าวหน้าก็ไม่ลืมเขา ความเป็นญาติที่แท้จริงนั้น จะต้องยอมรับในคำตักเตือนแนะนำที่ดีด้วย เพราะเขาเห็นว่าคุ้นเคยกันเป็นญาติกัน จึงปรารถนาดี ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการตักเตือน ก็ควรจะยินดีพอใจที่มีผู้หวังดีต่อตน
การพิจารณาว่าใครเป็นญาติแท้ต่อเรานั้น ต้องสังเกตการประพฤติปฏิบัติของเขาที่มีต่อเรา เช่น ยามที่เราเจ็บป่วย เขาไม่สามารถมาเยี่ยมเยือนเราได้ แต่มีน้ำใจโทรมาถามข่าวให้กำลังใจ นอกจากนั้น ความเป็นญาติที่ดีต่อกัน ควรให้ความเคารพนับถือกันเสมอต้นเสมอปลายทั้งต่อหน้าและลับหลังด้วย ไม่ทำดีต่อหน้าเพื่อหวังประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าเราจะมีฐานะอย่างไร ก็ไม่รังเกียจที่จะคบหาสมาคมด้วย บุคคลเช่นนี้นับว่าเป็นญาติแท้จริง
ลักษณะญาติที่ควรสงเคราะห์
๑. เป็นคนที่ได้พยายามช่วยเหลือตนเองก่อนแล้วอย่างเต็มที่
๒. รู้จักทำตนให้เป็นคนที่น่าช่วยเหลือ มีความประพฤติดี มีสัมมาคารวะ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
มีน้ำใจใจโอบอ้อมอารี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข
เวลาที่ควรสงเคราะห์ญาติ
๑. เมื่อยามยากจนหาที่พึ่งไม่ได้
๒. เมื่อขาดทุนทรัพย์ค้าขาย
๓. เมื่อขาดยานพาหนะ
๔. เมื่อขาดอุปกรณ์ทำกิน
๕. เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย
๖. เมื่อคราวมีธุระการงาน
๗. เมื่อคราวถูกใส่ความ มีคดี
วิธีสงเคราะห์ญาติทางโลก
โดยใช้หลัก สังคหวัตถุ ๔ ดังนี้
๑. ทาน หมายถึง การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันในยามตกยาก ให้ของใช้ของกินที่เป็นประโยชน์ สละทรัพย์แก่ญาติยามจำเป็น
๒. ปิยวาจา พูดจาต่อกันด้วยคำพูดที่สุภาพอ่อนโยน เรียกสรรพนามตามศักดิ์ เช่น ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง อันเป็นภาษาที่แสดงออกของความรักใครเคารพนับถือกัน
๓. อัตถจริยา ทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ญาติ คือ ช่วยเหลือเมื่อมีธุระการงาน เช่น แต่งงาน บวชนาค งานทำบุญ ยามเจ็บป่วย งานศพ และกิจอื่น ๆ ที่สมควรช่วยตามกำลัง
๔. สมานัตตตา วางตัวกับญาตให้เหมาะสมกับฐานะ ตำแหน่ง สภาวะสิ่งแวดล้อม เคารพญาติผู้ใหญ่ เอ็นดูญาติผู้น้อย เสมอต้นเสมอปลาย ร่วมทุกข์ร่วมสุขไม่ทอดทิ้งกัน
วิธีสงเคราะห์ญาติทางธรรม
การสงเคราะห์ญาติทางธรรมเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า บางคนไม่มีโอกาสที่จะได้ประกอบการบุญการกุศล เพราะอยู่ห่างไกลวัดและไม่สะดวกในการเดินทาง หรือไม่อยากไปคนเดียว เพราะฉะนั้น จึงควรชักจูงญาติให้ไปบำเพ็ญกุศลด้วยกันตามโอกาส ชักนำให้ทำทาน รักษาศีล เจริญความสงบ แนะนำให้ฟังธรรม ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรมตามกาล
อานิสงส์ของการสงเคราะห์ญาติ
๑. เป็นฐานป้องกันภัย ศัตรูหมู่พาลทำอันตรายได้ยาก
๒. เป็นฐานอำนาจ ให้ขยายกิจการงานได้ใหญ่โตขึ้น
๓. เป็นบุญกุศล
๔. เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน
๕. ทำให้สนิทสนมคุ้นเคยกัน
๖. ทำให้เกิดความสามัคคีกัน
๗. ทำให้เกิดความจงรักภักดีต่อกัน
๘. ทำให้ตระกูลใหญ่โต มั่นคง
๙. ทำให้มีญาติมากทุกภพทุกชาติ
๑๐. เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชนรุ่นหลัง
๑๑. เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้น
๑๒. เป็นเหตุให้เกิดสันติสุขไปทั่วโลก
............................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น