คนจะดี ต้องมี กตัญญู
ใครเลี้ยงดู ให้ที่อยู่ ที่กิน
ควรระลึก นึกอยู่ เป็นอาจินต์
ไม่ดูหมิ่น ลบหลู่ ด้วยรู้คุณ
กตัญญู ทำให้ ใจเป็นสุข
ไม่มีทุกข์ ด้วยบุญ ช่วยค้ำจุน
สติ ปัญญาดี ช่วยเกื้อหนุน
ทั้งเป็นทุน พาสุข ทุกชาติเอย
ความกตัญญู คือ อะไร ?
ความกตัญญู คือ ความรู้คุณ หมายถึง ความเป็นผู้มีจิตใจกระจ่าง มีสติปัญญาบริบูรณ์ รู้จักตอบแทนคุณผู้ที่ให้ความอุปการะแก่เรา ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม เช่น เลี้ยงดู สั่งสอน ตักเตือน ให้ที่อยู่ที่พัก ให้งานทำ ฯลฯ ควรรำลึกถึงพระคุณที่ผู้นั้น เคยช่วยเหลือเกื้อกูลตน ด้วยความเคารพยิ่ง แต่มิใช่เมื่อตอบแทนบุญคุณแล้วก็หายกัน ไม่มีการระลึกถึงกันอีกเลย ควรระลึกถึงด้วยความซาบซึ้งอยู่เสมอและไม่ลืมอุปการคุณนั้นเลย
สิ่งที่ควรกตัญญู
สิ่งที่ควรแก่ความกตัญญู คือ ทุกสิ่งที่มีบุญคุณแก่เรา ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น ๕ ประการ ดังนี้
๑. กตัญญูต่อบุคคล ใครก็ตามที่มีบุญคุณต่อเรา ควรระลึกถึงและหาโอกาสตอบแทนพระคุณท่าน เช่น บิดามาดา ครูอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ ฯลฯ
๒. กตัญญูต่อสัตว์ สัตว์เลี้ยงที่ช่วยทำงานให้เรา นับว่าสัตว์นั้นมีบุญคุณ เราจึงควรเลี้ยงดูให้ดี เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย สุนัข แมว เป็นต้น
๓. กตัญญูต่อสิ่งของ ได้แก่สิ่งของทุกอย่างที่มีคุณมีประโยชน์แก่เรา เช่น หนังสือธรรมะ หนังสือเรียนต่าง ๆ อุปกรณ์ทำมาหากินต่าง ๆ เราควรเก็บรักษาให้ดี ไม่ควรทิ้งขว้าง ควรเก็บไว้ในที่ที่สมควร
๔. กตัญญูต่อบุญ เมื่อรู้ตามความจริงว่า คนเราเกิดมาด้วยผลของบุญในอดีตชาติที่ได้กระทำไว้แล้ว
ผลของกุศลกรรม ทำให้มีรูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ร่างกายแข็งแรงดี มีทรัพย์สมบัติมากมาย มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต เพราะฉะนั้น ควรระลึกถึงคุณค่าของบุญด้วยการหมั่นเพียรบำเพ็ญบุญกุศลให้เพิ่มยิ่ง ๆ ขึ้น ไม่ประมาทในการสั่งสมบุญต่าง ๆ มีความอ่อนน้อมในตัว ไม่ดูถูกบุญทุกประเภท บุญเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ เมื่อระลึกถึงบุญกุศลที่ได้ทำแล้ว ก็เกิดความชุ่มชื่นใจ เกิดปีติ
๕. กตัญญูต่อตนเอง ควรระลึกถึงคุณของร่างกายของตน ร่างกายเป็นอุปกรณ์สำคัญยิ่ง เราใช้ร่างกายนี้สร้างความดี สร้างบุญกุศลประเภทต่าง ๆ เพื่อความสุขความเจริญในชีวิต เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรที่จะทำลายร่างกายด้วยการดื่มเหล้า เสพย์สิ่งมึนเมาเป็นพิษ เที่ยวเตร่ดึกดื่นในสถานที่ไม่สมควร ไม่ควรประพฤติผิดศีล ไม่ควรใช้ชีวิตอย่างประมาท
อานิสงส์ของการมีความกตัญญู
๑. ทำให้รักษาคุณความดีเดิมไว้ได้
๒. ทำให้สร้างคุณความดีใหม่เพิ่มได้อีก
๓. ทำให้เกิดสติ ไม่ประมาท
๔. ทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ
๕. ทำให้เกิดขันติ
๖. ทำให้จิตผ่องใส มองโลกในแง่ดี
๗. ทำให้เป็นที่สรรเสริญของคนดี
๘. ทำให้มีคนอยากคบหาสมาคม
๙. ทำให้ทั้งมนุษย์และเทวดาอยากช่วยเหลือ
๑๐. ทำให้ไม่มีเวรไม่มีภัย
๑๑. ทำให้ลาภผลทั้งหลายเกิดขึ้นโดยง่าย
๑๒. ทำให้บรรลุมรรคผลโดยง่าย
.....................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น