Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๒ การคบบัณฑิต





                               การคบหา          เป็นมิตร          กับบัณฑิต    
                               ไม่เห็นผิด          รู้ตรง               ดำรงมั่น
                               บัณฑิตนั้น         นำทาง           ล้วนสร้างสรรค์   
                               ไม่แปรผัน         ยึดมั่น             ในกรรมดี
                               บัณฑิต              ไม่คิด              อาฆาตมาดร้าย   
                               ไม่ให้ท้าย          ผู้ทำลาย        สามัคคี
                               อีกวาจา             มรรยาท         ก็เข้าที      
                               ไม่ย่ำยี               เย้ยหยัน         ผู้ทำผิด



คำว่า  "บัณฑิต"  คือ  ผู้ทรงความรู้  มีปัญญา (ทางธรรม)  มีศีลธรรมเป็นเครื่อง
ประกอบในการดำเนินชีวิต


ลักษณะของบัณฑิต  มี  ๓  ประการ  คือ

๑.  เป็นผู้มีความคิดดี  หมายถึง  ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น  ไม่คิดทำร้ายผู้อื่น  ไม่คิด
ลักขโมยของผู้อื่น  ไม่คิดอาฆาตพยาบาท

๒.  เป็นผู้มีวาจาดี  หมายถึง  มีวจีสุจริต  พูดแต่ความจริงที่เป็นประโยชน์  ไม่พูด
คำหยาบ  ไม่พูดส่อเสียด  ไม่พูดเพ้อเจ้อ  ไม่นินทากล่าวร้ายผู้อื่น  รู้จักใช้คำพูด 
"ขอบคุณ" เมื่อผู้อื่นให้ความช่วยเหลือ  แม้เพียงเล็กน้อย  ก็จะกล่าวคำขอบคุณเสมอ

๓.  เป็นผู้ประพฤติดี  หมายถึง  ประพฤติดีสม่ำเสมอในชีวิตประจำวันด้วยการให้ทาน  
รักษาศีล  ฟังธรรมตามกาล  เจริญสมาธิ  เจริญสติ  เจริญปัญญา  เจริญเมตตา  
และประกอบอาชีพสุจริต


ลักษณะของบัณฑิตที่ควรสังเกต  มี  ๕  ประการ  คือ

๑. ชอบชักนำและส่งเสริมการกระทำในทางที่ถูกที่สมควร  เช่น  แนะนำให้เลิกกระทำในสิ่งที่ผิด ๆ  ชักนำให้เลิกประพฤติที่เป็นโทษ  ซึ่งจะทำให้เกิดความเดือดร้อนในภายหลัง  แนะนำให้กระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์  อันจะนำความสุขมาให้ 

๒.  ชอบกระทำในสิ่งที่เป็นธุระของตน  เช่น  การปฏิบัติหน้าที่กิจการงานของตนให้สำเร็จเรียบร้อยตามที่ตั้งใจเอาไว้  รู้จักหน้าที่ของตน  รับผิดชอบในกิจของตนไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของผู้อื่น  เต็มใจช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน

๓.  ชอบแนะนำในสิ่งที่ดีและสิ่งที่ถูกต้อง  เช่น  แนะนำและตักเตือนด้วยความจริงใจเมื่อเห็นว่าผู้อื่นกระทำไม่ถูกต้องหรือไม่สมควร  แนะนำให้ทำในสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ ได้แก่  การฟังธรรม  การทำทาน  การรักษาศีล  การสนทนาธรรมตามกาล  การศึกษาธรรมะ

๔.  เป็นผู้ฟังที่ดี  มีมารยาท  ไม่แสดงความไม่พอใจ (โทสะ)  เช่น  เมื่อมีผู้พูดกล่าวร้ายในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง  ก็ไม่แสดงอาการโกรธหรือมีจิตพยาบาทและผูกโกรธ  แต่กลับมีจิตเมตตาต่อผู้นั้น  และรับเอาคำกล่าวหานั้นไปพิจารณาเพื่อแก้ไขปรับปรุง 

๕.  เป็นผู้รู้กฏระเบียบและมารยาทที่ดีที่ควรประพฤติ  เช่น  การรักษากฏระเบียบวินัยของสถาบันหรือองค์กรต่าง ๆ  เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม  การแสดงความเคารพต่อกฏระเบียบ  กฏหมายและการแสดงมารยาท   การเคารพต่อสถานที่  การแสดงความเคารพต่อบุคคลที่ควรเคารพ  การกราบไหว้  การคำนับเป็นมารยาทสังคม  เหล่านี้ล้วนเป็นลักษณะความประพฤติของบัณฑิต 


..................................
  













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น