Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๑๔ การงานไม่คั่งค้าง


การงาน   จะสำเร็จ   ไปด้วยดี    

จะต้องมี   ฉันทะ   วิริยะ

ด้วยอดทน   บากบั่น   อุตสาหะ     

มีจิตตะ   ตั้งมั่น   ไม่แปรผัน

ทำงาน   ถูกต้องดี   มีระเบียบ    

แม้งานเพียบ   เฉียบพลัน   ก็มิหวั่น

ไม่คั่งค้าง   สะสาง   ให้เร็ววัน   

รับประกัน   ผลนั้น   ต้องดีแน่

การงาน หรือ กรรม  หมายถึง  การกระทำ  ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒  ประเภท  ดังนี้

๑.  งานทางโลก  ได้แก่  อาชีพต่าง  ๆ   การทำไร่  ทำนา  ทำสวน  ค้าขาย  งานบริการ  งานรับจ้าง  รับราชการ  งานธุรกิจต่าง ๆ  

๒.  งานทางธรรม  ได้แก่  การศึกษาพระธรรม  ฟังธรรม  พิจารณาธรรม  สวดมนต์  รักษาศีล  อบรมเจริญความสงบ  เจริญพรหมวิหาร ๔   ฝึกอบรมเจริญสติ  ฝึกอบรมเจริญวิปัสสนา  เพียรระลึกสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ  เพื่อขัดเกลาจิตใจให้เบาบางจากกิเลสทั้งปวง

งานทุกอย่างที่กระทำต้องไม่ให้คั่งค้าง  จึงจะเรียกว่าเป็น  "มงคล"  ไม่ว่าจะทำงานทางโลก  หรืองานทางธรรม   งานส่วนตัวหรืองานส่วนรวมก็ตาม  เมื่อได้ลงมือทำ  ก็ควรทำด้วยความตั้งใจ  เต็มใจ  พอใจ  ยินดีในงานนั้น  มีความรับผิดชอบ  ไม่ทิ้งขวางเมื่อมีอุปสรรคเกิดขึ้น  ควรไตร่ตรองพิจารณาหาสาเหตุ  เพื่อที่จะแก้ไขอุปสรรคให้หมดไปได้  ทำด้วยความขยันพากเพียรและอดทน  จนกว่างานนั้นจะสำเร็จไปด้วยดีและมีประสิทธิผล

การทำงานให้สำเร็จต้องมีคุณธรรม  ๔  ประการ  ซึ่งเรียกว่า  "อิทธิบาท ๔ "  ได้แก่

๑.  ฉันทะ  คือ  ความพอใจ  ความเต็มใจ  ความรักงาน  การทำงานทุกประเภท  จะต้องทำด้วยความมีฉันทะ  ผลจึงจะเป็นที่พึงพอใจและมีคุณภาพสูง

๒.  วิริยะ  คือ  ความพากเพียร  ไม่ย่อท้อ  ทำงานทุกอย่างด้วยความขยันและพากเพียร  ถึงแม้จะมีอุปสรรคมากมายก็ไม่เกรงกลัวใด ๆ ทั้งสิ้น  ปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ  จะสิ้นไปได้ก็ด้วยมีวิริยะเป็นกำลังสำคัญ   เพราะฉะนั้น  วิริยะจึงเป็นคุณธรรมที่จะขาดไม่ได้เลยในการทำงานทั้งหลาย  

๓.  จิตตะ  คือ  ความเอาใจใส่  หรือ  ความตั้งใจ   การทำงานใด  ๆ  ก็ตาม  ถ้าขาดคุณธรรมข้อนี้  งานก็จะไม่สามารถสำเร็จไปได้ตามจุดประสงค์  เพราะฉะนั้น  จึงจำเป็นที่จะต้องมีความตั้งใจและเอาใจใส่ในกิจการงานที่ตนทำเป็นอย่างดี  เพื่อที่จะให้งานนั้น  สำเร็จตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพสูง

๔.  วิมังสา  คือ  การพินิจพิเคราะห์   พิจารณา   งานทุกประเภท  ก๋อนที่จะลงมือทำ  ควรศึกษาและพิจารณาให้เข้าใจในลักษณะของงานนั้น  ๆ  เสียก่อน  แล้วจึงลงมือทำ  ต้องมีหลักการทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน  เพื่อให้ดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง  ถ้าทำถูกต้องดีก็จะมีปัญหาหรืออุปสรรคน้อยมาก งานก็จะสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว  และจะประสบผลดีตามต้องการด้วย   

อานุสงส์ของการทำงานไม่คั่งค้าง

๑.  ทำให้ฐานะของตน  ของครอบครัวและของประเทศชาติดีขึ้นและมั่นคง

๒.  ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการทำงาน

๓.  ทำให้สามารถประสบความเจริญก้าวหน้า

๔.  ทำให้ได้รับความนับถือ ยกย่อง สรรเสริญ ในสังคม

๕.  ทำให้ได้รับความสุขใจ

๖.  ทำให้สามารถเป็นที่พึ่งของตนและผู้อื่นด้วย

๗  ทำให้สามารถสร้างกุศลต่าง ๆ  ได้งาย

๘.  ทำให้ป้องกันภัยจากอบายภูมิได้ด้วย

๙.  ทำให้มีที่ไปสู่สุคติในเบื้องหน้า

๑๐.  ทำให้เป็นอุปนิสัยที่ดีติดตัวข้ามภพชาติ


.........................................








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น