Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๑๖ การประพฤติธรรม


พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  สุตตนิบาต  เล่ม ๑ ภาค ๖ หน้าที่ 210
ธรรมจริยสูตรที่ ๖  ว่าด้วยการประพฤติธรรม

[๓๒๑]  พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าว

ความประพฤติทั้งที่เป็นโลกิยะ  และโลกุตระ

ทั้งสองอย่างนี้  คือ  ธรรมจริยาและ

พรหมจรรย์  ว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่อันสูงสุด

ถึงแม้บุคคลออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

ถ้าบุคคลนั้น  เป็นชาติปากกล้า  ยินดี

แล้วในความเบียดเบียนแสวงหาอยู่  ความ

เป็นอยู่ของบุคคลนั้นเลวทราม  ย่อมยังกิเลส

ธุลีมีราคะเป็นต้นของตนให้เจริญ.

ภิกษุยินดีแล้วในความทะเลาะ  ถูก

ธรรมคือโมหะหุ้มห่อแล้ว  ย่อมไม่รู้ธรรมที่

พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว.

แม้อันเหล่าภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักบอก

แล้ว  ภิกษุผูถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว  ทำตนที่

อบรมแล้วให้ลำบากอยู่  ย่อมไม่รู้ความ

เศร้าหมอง  ย่อมไม่รู้ทางอันให้ถึงนรก.

เมื่อไม่รู้ก็เข้าถึงวินิบาต  จากครรภ์

เข้าถึงครรภ์  จากที่มืดเข้าถึงที่มืด  ภิกษุผู้เช่น

นั้นแล  ละไปแล้ว  ย่อมเข้าถึงความทุกข์

ก็บุคคลใดผู้มีการงานเศร้าหมองเห็นปานนี้

ตลอดกาลนาน  พึงเป็นผู้เต็มแล้วด้วยบาป

เหมือนหลุมคูถที่เต็มอยู่นานปี  พึงเป็นหลุมเต็มด้วยคูถ  ฉะนั้น.


...............................


ผู้ประพฤติธรรม   ย่อมอยู่   เป็นสุข   


เพราะรู้ทุกข์   รู้โทษ   ตามความจริง

ฝึกระลึก   รู้ตัว   ทั่วทุกสิ่ง  

ให้รู้ยิ่ง   ในสิง   ที่ปรากฏ

หมั่นเจริญ   ศีลทาน   ภาวนา  


จนปัญญา   รู้แจ้ง   แทงได้หมด

พระธรรม   อีกทั้งคำ   พุทธพจน์  

แสนหมดจด   งดงาม   ตามอรรถะ


การประพฤติธรรม  หมายถึง  อะไร ?

การประพฤติธรรม  หมายถึง  การประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของความถูกต้องและความดี  ทั้งปรับปรุงพฤติกรรมของตนให้ดี  สมกับที่ได้เกิดเป็นคนและให้มีความเที่ยงตรง  ไม่ลำเอียง

การประพฤติธรรมนั้น  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้  เป็นมงคลที่ ๑๖  ก่อนมงคลที่ ๑๗ และมงคลที่ ๑๘  คือ  การสงเคราะห์ญาติและการทำงานไม่มีโทษ  เพราะเหตุว่า  มงคลทั้งสองนี้เป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม  เราต้องมีการทำงานร่วมกับผู้อื่นเป็นจำนวนมาก  ซึ่งมีอุปนิสัยแตกต่างกันตามการสะสม  ถ้าทำงานโดยไม่มีสติสัมปชัญญะ  ก็จะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้  ซึ่งจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดการเสียงานเพราะขาดความเป็นธรรม  

เพราะะนั้น  จึงควรที่จะต้องมีการประพฤติธรรมเพื่อเตรียมความพร้อมทั้งกายใจ  ปรับปรุงตนเองให้พร้อมที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างสันติสุข    

การประพฤติปฏิบัติตน  แบ่งได้ ๒ ลักษณะ  ดังนี้

๑.  ประพฤติเป็นธรรม  คือ  มีความเที่ยงธรรม  เป็นความถูกต้องและเป็นความดี  สังคมจะมีความมั่นคง  มีความสงบสุขได้ด้วยคุณธรรมอย่างหนึ่ง  คือ  "ความเป็นธรรม"  ถ้าขาดความเป็นธรรมเมื่อไร  แม้แต่สังคมเล็ก ๆ  เช่น ครอบครัว  ถ้าสมาชิกในครอบครัวไม่มีความเป็นธรรมต่อกัน  ครอบครัวนั้นย่อมหาความสงบสุขไม่ได้เลย  ในที่สุดก็จะต้องแตกแยกกันไป   สังคมใด ๆ  ก็ตามถ้าขาดความเป็นธรรม  สังคมนั้นย่อมวุ่นวายหาความเจริญได้ยาก  จะมีแต่ความล้มเหลวและพินาศในที่สุด

หลักการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นโดยชอบด้วยเหตุผล  มี  ๔  ประการ  ดังนี้

๑.  ไม่ลำเอียงเพราะรัก  

๒.  ไม่ลำเอียงเพราะชัง

๓.  ไม่ลำเอียงเพราะหลง

๔.  ไม่ลำเอียงเพราะกลัว


๒.  ประพฤติตามธรรม  คือ  การประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้
ฝึกอบรมขัดเกลากายใจตนเองให้มีคุณธรรมสูงขึ้นตามลำดับแห่งปัญญา  ได้แก่

การปฏิบัติตามหลักกุศลบถ ๑๐ ประการ  ดังนี้

๑.  เว้นจากการฆ่าสัตว์  คือ   ไม่ฆ่าสัตว์  นับตั้งแต่การฆ่าคนทั่วไป  ฆ่าสัตว์ที่มีคุณ และสัตว์อื่น ๆ  ด้วย

๒.  เว้นจากการลักทรัพย์  คือ  ไม่แสวงหาทรัพย์มาโดยทางทุจริต  เช่น  การลักขโมย  ฉก  ปล้น  ฉ้อโกง  หลอกลวง  ปลอม  เบียดบัง  ยักยอก  ลักลอบ  

๓.  เว้นจากการประพฤติผิดในกาม  คือ  ไม่กระทำผิดในทางเพศ  ไม่ลุด้วยอำนาจแก่ความกำหนัด  เช่น  การเป็นชู้กับสามีภรรยาของผู้อื่น  การข่มขืน  การฉุดคร่าอนาจาร

๔.  เว้นจากการพูดเท็จ  คือ  ต้องไม่มีเจตนาพูดให้ผู้อื่นเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริง  รวมทั้งการพูดเท็จเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อ  เช่น  พูดปด  ทานสาบาน  ทำเล่ห์กระเท่ห์กลอุบาย  มารยา  เสริมความ  อำความ   

๕.  เว้นจากการพูดส่อเสียด  คือ  ไม่เก็บความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น  เก็บความข้างโน้นมาบอกข้างนี้  ด้วยเจตนาจะยุแหย่ให้เขาแตกกัน  ควรกล่าวแต่ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีกัน

๖.  เว้นจากการพูดคำหยาบ  คือ  ไม่พูดคำซึ่งทำให้คนฟังเกิดความระคายใจ  ครูดหู  และส่อว่าผู้พูดเองเป็นคนมีสกุลต่ำ  เช่น  คำด่า  คำประชด  คำกระทบ  คำแดกดัน  คำสบถ  คำหยาบโลน  คำอาฆาต

๗.  เว้นจากกาพูดเพ้อเจ้อ  คือ  ไม่พูดเหลวไหล  ไม่พูดพล่อย ๆ  สักแต่ว่ามีปากอยากพูดอะไรก็พูด  แต่ควรพูดที่มีสาระ  มีหลักฐานอ้างอิง  พูดถูกกาลเทศะ  พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์

๘.  ไม่โลภอยากได้ของเขา  คือ  ไม่เพ่งเล็งที่จะเอาทรัพย์ของผู้อื่นในทางทุจริต

๙.   ไม่พยายามปองร้ายเขา  คือ  ไม่ผูกใจเจ็บ  ไม่คิดอาฆาตล้างแค้น  ไม่จองเวร  มีใจเบิกบานแจ่มใส

๑๐. ไม่มีความเห็นผิด  คือ  ไม่คิดแย้งกับหลักพระธรรม  เช่น  

มีความเห็นที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ  ดังนี้

๑.  เห็นว่าการให้ทานดีจริง ควรทำ

๒.  เห็นว่ายัญที่บูชาแล้วมีผล  คือ เห็นว่าการสงเคราะห์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี ควรทำ

๓.  เห็นว่าการบูชาบุคคลที่ควรบูชาดีจริง  ควรทำ

๔.  เห็นผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริง

๕.  เห็นว่าโลกนี้มีจริง

๖.  เห็นว่าโลกหน้ามีจริง

๗.  เห็นว่ามารดามีพระคุณต่อเราจริง

๘.  เห็นว่าบิดามีพระคุณต่อเราจริง

๙.  เห็นว่าสัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมีจริง (นรกสวรรค์มีจริง)

๑๐.  เห็นว่าสมณพรหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบหมดกิเลสแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามมีจริง


อานิสงส์การประพฤติธรรม

๑.  เป็นมหากุศล

๒.  เป็นผู้ไม่ประมาท

๓.  เป็นผู้รักษาสัทธรรม

๔.  เป็นผู้นำพระพุทธศาสนาให้เจริญ

๕.  เป็นสุขในโลกนี้แลโลกหน้า

๖.  ไม่ก่อเวรก่อภัยกับใคร ๆ 

๗.  เป็นผู้ให้อภัยแก่สรรพสัตว์

๘.  เป็นผู้ดำเนินตามปฏิปทาของนักปราชญ์

๙.  สร้างความเจริญ  ความสงบแก่ตนเองและส่วนรวม

๑๐.  เป็นผู้สร้างทางมนุษย์  สวรรค์  พรหม  นิพพาน


..........................................








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น