Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๒๔ มีความสันโดษ



                                       ควรพอใจ        ในสิ่ง                ที่ตนมี  
                                       ทั้งยินดี            ในสิ่ง                ที่ตนได้
                                       ฝึกฝนรู้            การประมาณ   ตนไว้
                                       จะยากไร้         ถ้าใฝ่                จนเกินตัว
                                       หมั่นบำเพ็ญ    ศีลทาน             บารมี  
                                       ประพฤติดี       กายใจ              ไม่หมองมัว
                                       ฝึกสติ             ระลึก                  รู้ตัวทั่ว   
                                       มีความกลัว    ละอาย       ต่อบาปกรรม


สันโดษ  คือ อะไร ?

สันโดษ   มาจากภาษาบาลีว่า  สันโตสะ


สัน  แปลว่า  ตน           โตสะ  แปลว่า  ยินดี


สันโดษ  แปลว่า  ยินดี  ชอบใจ  พอใจ  อิ่มใจ  จุใจ  สุขใจ

กับสิ่งของที่ตนมี  คือ รู้จักพอดี  พอประมาณ


ลักษณะของสันโดษ


ผู้มีความสันโดษ  จะต้องประกอบด้วยลักษณะ ๓ อย่าง ดังนี้


๑.  สเกนสันโดษ  ยินดีกับของของตน  หมายถึง ยินดีกับสิ่งของที่ตนมีอยู่แล้ว  พอใจกับของของตนไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่  พี่ น้อง ญาติ ลูก ภรรยา สามี  และงาน รวมทั้งประเทศชาติของเรา  หรือพอใจในงานของตน


๒.  สันเตนสันโดษ   ยินดีกับสิ่งที่ได้มา  หมายถึง  ยินดีกับของส่วนที่ตนได้มา  คือ เมื่อได้พยายามกระทำงานสิ่งใดด้วยความสามารถอย่างเต็มที่แล้ว  ผลออกมาได้เท่าไรก็พอใจเท่านั้น  แม้ว่างานนั้นอาจจะไม่สำเร็จตามเป้าหมาย  แต่ก็พอใจยินดีแค่นั้น  ไม่รู้สึกเป็นทุกข์กับสิ่งนั้น


๓.  สเมนสันโดษ  ยินดีโดยมีใจสม่ำเสมอ  หมายถึง  ไม่มีความรู้สึกดีใจจนเกินไปในเมื่อได้พบสิ่งที่ถูกใจ  และไม่เสียใใจจนเกินไป เมื่อต้องประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา



ประเภทของสันโดษ  มี ๓ อย่าง  ดังนี้


๑.  ยถาลาภสันโดษ  ยินดีตามที่ได้  หมายถึง  เมื่อได้สิ่งใดมาก็พอใจในสิ่งนั้น ไม่เสียใจถ้าไม่ได้ตามต้องการ  แต่พยายามขวนขวายสร้างเหตุใหม่ให้ดีที่สุด  ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น


๒.  ยถาพลสันโดษ  ยินดีสิ่งที่ควรแก่สมรรถภาพ  หมายถึง  คนเรามีความสามารถแตกต่างกัน ทั้งกำลังกาย  กำลังความนึกคิด  กำลังสติ  กำลังปัญญา  กำลังใจและกำลังความดี  เพราะฉะนั้น  จึงควรที่จะต้องรู้ตนเองว่า  มีกำลังมากน้อยแค่ไหน  แล้วก็แสวงหาหรือยอมรับเฉพาะสิ่งที่ควรแก่สมรรถภาพของตนเท่านั้น  ไม่เป็นคนตีค่าตัวเองผิด  คนอื่นเป็นอย่างไร  ตัวเองก็จะเป็นอย่างเขาได้ทุกอย่าง  ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า  คนเรามีกรรมแตกต่างกัน


๓.  ยถาสารุุปปสันโดษ  ยินดีสิ่งที่ควรแก่ฐานะ  หมายถึง  ควรพิจารณาตนเองว่า  มีฐานะเป็นอะไร  เป็นชาวนา  ชาวบ้าน  ผู้ใหญ่บ้าน ครู  นักเรียน เสมียน  ทหาร  ตำรวจ ข้าราชการ  ฯลฯ  แล้วก็แสวงหาหรือว่ายอมรับแต่ของที่เหมาะสมแก่ฐานะตน  ไม่เป็นคนใฝ่สูงเกินฐานะ



สิ่งที่คนทั่วไปไม่รู้จักพอ  มีดังนี้


๑.  อำนาจวาสนา


๒.  ทรัพย์สมบัติ


๓.  อาหาร


๔.  กามคุณ



สันโดษเป็นเหตุแห่งความสุข


ความสุขในโลกนี้  อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท  ดังนี้


๑.  อามิสสุข  คือ  ความสุขที่ต้องอาศัยวัตถุหรือสิ่งภายนอกมาตอบสนอง  ความต้องการทางตา  หู จมูก ลิ้น กายและทางใจ  ความนึกคิดอยากต่าง ๆ  ก็จัดเป็นความสุขขั้นหยาบ เพราะเหตุว่า มีทุกข์เจือปนตลอดเวลา  จะมีอาการดังนี้คือ


                 -  ต้องแสวงหาดิ้นรนกระวนกระวาย เป็นอาการนำหน้า  เนื่องจากของทั้งหลายหาได้ยาก  หรือมีจำกัด


                 -  เมื่อได้มาแล้วก็ต้องระวังรักษา  ยิดติด คับแคบ อึดอัด หวงแหน ผูกพัน กลัวสูญหาย


                 -  ถ้าไม่ได้มา ถูกขัดขวางก็ขัดใจ คิดทำลาย คิดอาฆาต  ผูกโกรธ พยาบาท จองเวร


๒.  นิรามิสสุข  คือ  ความสุขกายภายในที่ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาสนองความอยาก  เป็นความสุขขณะที่ใจสะอาด  สงบ  เสรี  สว่างไสว สมบูรณ์  ซึ่งเป็นลักษณะของความสุขแท้จริงไม่เจือปนกิเลส  เป็นสภาวะสุขที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ  ตามมา  กลับเป็นสภาวะสุขที่ช่วยขจัดปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วย  เพราะเหตุว่าจิตมีความสงบ



การหาเลี้ยงชีพอย่างมีสันโดษ


ในทางพระพุทธศาสนามุ่งให้เราดำรงชีพอยู่ได้ด้วย ปัจจัย ๔  เพื่อสำหรับพอเพียงแก่สังขาร  ที่จะดำรงอยู่ได้ตามอัตภาพ  อยู่เพื่อที่จะสร้างบุญกุศล  มิได้เพื่อวัตถุต่าง  ๆ  หรือเพื่อส่งเสริมให้ดิ้นรนมากขึ้น



วิธีฝึกเพื่อให้เป็นผู้สันโดษ


๑.  หมั่นพิจารณาถึงความแก่  ความตาย  อยู่เป็นนิจ ว่าเราจะหลีกเลี่ยงจากความแก่และความตายไปไม่ได้เลย  เมื่อพิจารณาบ่อย ๆ  จิตก็จะคลายจากความติดข้อง  ต้องการยินดีในทางโลกลดลง  ความสันโดษก็จะเกิดขึ้น


๒.  รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร  ควรนึกอยู่เสมอว่า  กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน  ฝึกระลึกบ่อย ๆ  เนื่อง ๆ  ก็จะทำให้เป็นผู้รู้จักการบริโภคอาหาร  ความสันโดษก็จะเกิดขึ้น


๓.  หมั่นให้ทานอยู่เสมอ ๆ  เพื่อขจัดความตระหนี่  ความโลภความติดข้องให้ลดลงทีละน้อย  ๆ  ทำบ่อย ๆ  ความสันโดษก็จะเกิดขึ้น


๔.  มั่นรักษาศีล  โดยเฉพาะศีล ๘  ผู้รักษาศีล ๘  จะเป็นผู้สันโดษในหลายเรื่อง  เพราะเหตุว่า  ศีลข้อ ๓  ทำให้สันโดษในกามคุณ  ศีลข้อ ๖  ทำให้สันโดษในเรื่องอาหาร  ศีลข้อ ๗  ทำให้สันโดษในเรื่องเครื่องนุ่งห่ม  การแต่งตัว  และศีล ๘  ทำให้สันโดษในเรื่องที่อยู่อาศัยที่หลับนอน


๕.  หมั่นทำสมาธิเป็นประจำ  เมื่อทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง  จิตใจก็มีความสงบจากอกุศลมากขึ้น  มีความอ่อนโยนขึ้น  รู้จักกุศลและอกุศล  ความอยากเด่น อยากดัง  หรืออยากได้ในทางไม่ชอบก็จะค่อย ๆ หมดไป



อานิสงส์การมีสันโดษ


๑.  ทำให้ตัดกังวลต่าง ๆ  เสียได้


๒.  ทำให้ออกห่างจากอกุศลกรรม


๓.  ทำให้มีความสบายกายสบายใจ


๔.  ทำให้พ้นจากความผิด พบแต่สิ่งถูกต้อง


๕.  ทำให้ศีลธรรมเกิดในใจได้ง่าย


๖.  ทำให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง


๗.  ทำให้มีกำลังใจสูง  เมื่อรู้ว่าสิ่งใดไม่ดีก็ไม่ฝ่าฝืนทำ


๘.  นำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ตน


๙.  ทำให้มีโอกาสกระทำแต่สิ่งที่ดี ๆ  ยิ่ง ๆ ขึ้น


๑๐. ได้ชื่อว่านำพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง





.........................................





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น