Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๒๓ มีความถ่อมตน



                                การเคารพ          ผู้อื่น           ย่อมสุขใจ    
                                ทั้งข้างใน           ข้างนอก    บอกชัดดี
                                ด้วยศรัทธา        วาจา          แลท่าที    
                                ที่ท่านมี               ดีพร้อม     น่าน้อมนำ
                                การถ่อมตน        ใช่ว่า         เป็นคนถ่อย     
                                ตรึกให้บ่อย         ค่อยทำ     แลจดจำ
                                บางคนทำ           ท่าดี          มีศีลธรรม     
                                แต่ระยำ               ใฝ่ต่ำ        ย่ำแย่เอย


ความถ่อมตน  คือ  อะไร ?

ความถ่อมตน  ภาษาบาลีว่า  นิวาโต  

                       วาโต  แปลว่า  ลม  พองลม

                       นิ        แปลว่า  ไม่มี  ออก

นิวาโต  แปลว่า  ไม่พองลม  คือเอาลมออกแล้ว  เอามานะทิฏฐิออก  มีความสงบเสงี่ยมเจียมตน   ไม่เบ่ง ไม่ทะนงตน  ไม่อวดตัวถือตน  ไม่อวดเก่ง  ไม่อวดดื้อถือดี  ไม่ยโสโอหัง  ไม่ดูถูกเหยียดหยามใคร ไม่กระด้าง  ไม่เย่อหยิ่งจองหอง


ความถ่อมตน   คือ  การไม่แสดงออกให้ผู้อื่นได้ทราบถึงความสามารถที่ตนมีเพื่อข่มผู้อื่น  หรือเพื่อโอ้อวด  การไม่อวดดี  ไม่อวดรู้  ไม่อวดเก่ง  เย่อหยิ่งจองหอง  แต่มีความสำรวมสงบเสงี่ยม  เป็นผู้พิจารณาตนเสมอ  ไม่จับผิดผู้อื่น  แต่จะสามารถน้อมตัวลงเพื่อรับการถ่ายทอดความดีของผู้อื่นเข้าสู่ตนได้อย่างเต็มที่ 


เหตุที่ทำให้มีความถือตัว

๑.  ชาติตระกูล   ความหลงยึดในชาติตระกูล    เช่น  คิดว่าตนเกิดในชาติตระกูลใหญ่  เชื้อสาย  มีชื่อเสียงโด่งดัง  ไม่มีใครเทียบตนได้  คิดเช่นนี้ความถือตัวย่อมเกิดขึ้นได้

๒.  ทรัพย์สมบัติ   ความหลงยึดในทรัพย์สมบัติ   เช่น  คิดว่าตนมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย  จะทำอะไรก็ได้  ไม่เกรงใจใคร  เมื่อคิดเช่นนี้ย่อมเกิดความถือตัวได้

๓.  รูปร่างหน้าตา  ความหลงยึดในรูปร่างหน้าตา  เช่น  คิดว่าตนมีหน้าตาและรูปร่างผิดพรรณสวยงามกว่าผู้อื่น  จะมองส่วนไหนก็สวยงามไปหมด  ถ้าคิดเช่นนี้ก็ทำให้ความถือตัวเกิดขึ้นได้

๔.  ความรู้ความสามารถ  ความหลงยึดในความรู้สามารถของตน  เ่น  คิดว่าตนมีความรู้สูงกว่าผู้อื่นมาก  ไม่มีใครเทียบได้  ถ้าคิดเช่นนี้ความถือตัวย่อมเกิดขึ้นได้

๕.  ยศตำแหน่ง  ความหลงยึดในยศตำแหน่ง  เช่น  คิดว่าตนมียศตำแหน่งใหญ่โตกว่าใคร ๆ  ไม่มีผู้ใดจะสู้ได้  ถ้าคิดเช่นนี้  ความถือตัวย่อมเกิดขึ้นได้

๖.  บริวาร  ความหลงยึดในบริวาร   เช่น  คิดว่าตนมีพรรคพวกบริวารมากมาย  ไม่มีใครกล้าทำอะไรตนได้  ตนจะทำอะไรก็ได้  ไม่เกรงกลัวใคร  ถ้าคิดเช่นนี้ความถือตัวย่อมเกิดขึ้นได้


โทษของการอวดดี  มี ๓  ประการ  ดังนี้

๑.  ทำให้เสียคน  หมายถึง  ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้  ทำให้เสียอนาคตได้  

๒.  ทำให้เสียมิตร  หมายถึง  ไม่มีผู้ใดอยากคบหาสมาคมสนิทสนมด้วย  

๓.  ทำให้เสียหมู่คณะ  หมายถึง  ถ้าต่างคนต่างอวดดีเข้าหากัน  ก็จะทำให้แตกความสามัคคีได้


การปฏิบัติตนให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน  มีหลักดังนี้

๑.  ต้องคบกัลยาณมิตร  คือ  คบเพื่อนที่ดีมีศีลธรรม  ช่วยตักเตือนแนะนำให้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควร

๒.  ต้องรู้จักคิดไตร่ตรอง  คือ  รู้จักคิดหาเหตุผลตามความเป็นจริงว่า  ทุกคนมีความนึกคิดแตกต่างกันตามการสะสมของจิต  ทุกคนเกิดมาเพราะผลของกรรมที่ตนได้กระทำไว้แล้วในอดีตชาติ

๓.  ต้องมีความสามัคคี  คือ  การมีความรักสามัคคีในหมู่คณะ  ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น  ยอมรับคำตักเตือน  รับฟังคำตักเตือน  เคารพความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยเหตุผล


ลักษณะของคนถ่อมตน  มีดังนี้

๑.  มีกิริยาที่นอบน้อม  คือ  มีกิริยามารยาทอันดีงาม  มีความอ่อนน้อมอ่อนโยนต่อคนทั่วไป  ไม่ตีตนเสมอท่าน  มีความสำรวมกายสงบเสงี่ยม  มีความองอาจ  ผึ่งผายในตัว

๒.  มีวาจาที่อ่อนหวาน  คือ  มีคำพูดที่ไพเราะน่าฟัง  เป็นพูดที่ออกมาจากใจที่สะอาดนุ่มนวล  ไม่พูดโอ้อวด  ไม่พูดกล่าวลบหลู่ทับถมผู้อื่น  รู้จักใช้คำพูดที่ควรพูด  เช่น  เมื่อกระทำพลาดพลั้งล่วงเกินผู้อื่น  
ก็รู้จักกล่าวคำ "ขอโทษ" หรือ "ขออภัย"  เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นก็กล่าวคำ "ขอบคุณ"

๓.  มีจิตใจที่อ่อนโยน  คือ  มีใจนอบน้อม ละมุนละม่อม ถ่อมตน  มีใจเข้มแข็งอดทน  ไม่อวดดีอวดเก่ง  พยายามฝึกฝนตนเองให้มีความสามารถในทางที่ถูก  ไม่ยึดความคิดของตนเป็นใหญ่  มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น  รู้จักให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่น  


อานิสงส์ของความถ่อมตน

๑.  ทำให้อยู่เป็นสุข  ไม่มีศัตรู

๒.  ทำให้เป็นคนน่ารัก  น่านับถือ

๓.  ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ

๔.  ทำให้ได้กัลยาณมิตร

๕.  ทำให้สามาถถ่ายทอดคุณความดีจากผู้อื่นได้

๖.  ทำให้ได้ที่พึ่งทั้งภพนี้และภพหน้า

๗.  ทำให้ไม่ประมาท  ตั้งอยู่ในธรรม

๘.  ทำให้บรรลุมรรคผลได้โดยง่าย


.........................................














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น