เมื่อกิเลส เผาใจ ให้ร้อนรุ่ม
ดุจไฟสุ่ม อกหมกไหม้ ทั้งวัน
ต้องตบะ เพียรเผาผลาญ โดยพลัน
ไม่ไหวหวั่น เกรงกลัว ต่อสิ่งใด
ควรฝึก สังวรอินทรีย์ ให้ดี
ขันติมี สติคล่อง ว่องไว
สมาธิ ปัญญา ย่อมผ่องใส
รู้ชัดได้ ตามจริง สิ่งปรากฏ
ตบะ คือ อะไร ?
ตบะ แปลว่า ทำให้ร้อน ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด รวมความตั้งแต่ การเผา ลน ย่าง ต้ม ปิ้ง อบ คั่ว ผิง ฯลฯ
การบำเพ็ญตบะ หมายถึง การทำความเพียรเผาผลาญกิเลสทั้งปวงให้เร่าร้อน หรือเผาผลาญให้กิเลสหมดไป แล้วใจก็จะผ่องใส หมดทุกข์
ลักษณะการบำเพ็ญตบะ มีดังนี้
๑. การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ (อายตนะภายใน ๖ อย่าง) ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ไม่ให้หลงติดอยู่กับสัมผัสภายนอกที่มากระทบ ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางอินทรีย์ทั้ง ๖ (อินทรีย์สังวร)
ิิ
๒. การประพฤติรักษาพรหมจรรย์ เว้นจากการร่วมประเวณี หรือกามกิจทั้งปวง
๓. การปฏิบัติธรรม คือ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ตามความเป็นจริง ว่าไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ขณะใดที่จิตรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นศีลบริสุทธิ์ เมื่ออบรมเจริญสติจนมีกำลังมาก สมาธิย่อมตั้งมั่นและปัญญาย่อมรู้แจ้งและสามารถดับกิเลสให้หมดสิ้นได้
การบำเพ็ญตบะในชีวิตประจำวัน
๑. มีอินทรียสังวร คือ การสำรวมระวังตน โดยอาศัยสติเป็นเครื่องคุ้มครองทวารหรือช่องทางติดต่อกับภายนอก มี ๖ ทาง ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบช่องทางทั้ง ๖ ไว้ ดังนี้
๑. ตาคนเรานี้เหมือนงู งูไม่ชอบที่เรียบ ๆ ชอบที่ลึกลับซับซ้อน ตาคนก็เหมือนกัน ชอบดูสิ่งที่มีลวดลายวิจิตรสวยงาม ชอบดูสิ่งที่ปกปิด ยิ่งห้ามยิ่งชอบ
๒. หูคนเรานี้เหมือนจระเข้ คือ ชอบที่เย็น ๆ อยากฟังคำพูดเย็น ๆ ที่เขาชมตน หรือคำพูดที่ไพเราะกับตน
๓. จมูกคนเรานี้เหมือนนก คือ ชอบโผขึ้นไปในอากาศ พอได้กลิ่นอะไรหน่อยก็ตาม ดมทีเดียวว่ามาจากไหน
๔. ลิ้นคนเรานี้เหมือนสุนัขบ้าน คือ ชอบลิ้มรสอาหาร วัน ๆ ขอให้ได้กินของอร่อย ๆ เที่ยวซอกแซกหาอาหารอร่อย ๆ กินทั้งวัน ยิ่งพิสดารยิ่งชอบมาก
๕. กายคนเรานี้เหมือนสุนัขจิ้งจอก คือ ชอบที่อุ่น ๆ ที่นุ่ม ๆ ชอบซุก เดี๋ยวจะไปซุกตักคนโน้น เดี๋ยวจะไปซุกตักคนนี้ ชอบพิงคนโน้น ชอบจับคนนี้
๖. ใจคนนี้เหมือนลิง คือ ชอบซน คิดโน่นคิดนี่ ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมสงบ
วิธีที่จะทำให้อินทริยสังวรเกิดขึ้น ควรฝึกตนให้มีหิิริโอตตัปปะ คือ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป โดยคำนึงถึง ชาติตระกูล อายุ วิชาความรู้ ครูอาจารย์ สำนักศึกษาของตน และอื่น ๆ ดังรายละเอียดในมงคงที่ ๑๙
ผู้มีอินทรียสังวรดี ศีลย่อมบริสุทธิ์ ศีลบริสุทธิ์ สมาธิย่อมเกิดได้ง่าย สมาธิตั้งมั่น ปัญญาก็เกิดขึ้น เป็นความสว่างภายใน รู้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เห็นถึงตัวกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ภายในและสามารถกำจัดให้หมดสิ้น
๒. ความเพียรในการปฏิบัติธรรม
ความเพียรเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง ถ้าต้องการจะทำกิจการงานต่าง ๆ ให้สำเร็จ ก็ต้องมีความเพียรเป็นกำลังช่วยเกื้อหนุนให้งานนั้นสำเร็จไปด้วยดี นอกจากนั้นความเพียรยังเป็นคุณธรรมที่ช่วยทำให้คุณธรรมทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้นได้
อานิสงส์ของความเพียร
๑. ทำให้เลิกเป็นคนเอาแต่ใจตัวได้ในเร็ววัน
๒. ทำให้คุณธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นในตน
๓. ทำให้มงคลข้อต้น ๆ ทั้งหมดเกิดขึ้นกับเรา
๔. ทำให้บรรลุมรรคผลได้เร็ว
.........................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น