Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย


                                   ผู้ใดเพียร          ระลึก               อยู่เนื่องนิจ       
                                   รู้จักคิด              รู้จัก                 ไตร่ตรองเป็น
                                   ชีวิตย่อม           ไม่ลำบาก       ยากเย็น    
                                   หมั่นบำเพ็ญ      ศีลทาน           สำราญใจ   
                                   คืนวัน                 ผ่านไป           ทำอะไรอยู่        
                                   ควรตรวจดู        ให้รู้                  ทำสิ่งใด
                                   หมั่นเรียน           พากเพียรไว้   ยามเติบใหญ่       
                                   จะได้ใช้              เป็นทุน            เกื้อหนุนเอย


ความไม่ประมาท  หมายถึง  อะไร ?

ความไม่ประมาท  หมายถึง  การมีสติกำกับตัวอยู่เสมอ  ซึ่งเป็นสติในทางโลก

ความไม่ประมาทในธรรม   หมายความว่าอย่างไร ?

ธรรม  ในที่หมายถึง  คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า    

ความไม่ประมาทในธรรม  คือ  การมีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางทวารต่าง ๆ  ขณะนี้ตามความเป็นจริงว่า  เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วก็ดับไปตามเหตุตามปัจจัย  เป็นธรรมดา  แต่สติเป็นอนัตตาบังคับให้เกิดเองไม่ได้  ต้องมีเหตุปัจจัย  ต้องมีการอบรมเจริญ  ต้องเคยฟังสติปัฏฐานมากก่อน  สติจึงจะเกิดได้

พระบรมศาสดาทรงตรัสในพระปัจฉิมโอวาทไว้ว่า  "ดูก่อน  ภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้ เราจะเตือนเธอทั้งหลาย  สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง  มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"


ลักษณะของผู้ที่ยังประมาทอยู่  มี ๓  พวก  คือ

๑.  พวกกุสิตะ  คือ  พวกไม่ทำเหตุดี  แต่จะเอาผลดี  เป็นพวกเกียจคร้าน  ไม่ขยันทำงานแต่อยากจะมีเงิน  ไม่ประพฤติตนดี  แต่อยากจะให้คนสรรเสริญ ฯลฯ

๒.  พวกทุจริตะ  คือ  พวกทำเหตุเสีย  แต่จะเอาผลดี  เป็นพวกที่ชอบทำอะไรตามอำเภอใจตน  แต่อยากจะได้ผลดี  ชอบก้าวร้าวผู้อื่น  แต่อยากจะให้คนรักเอ็นดู ฯลฯ

๓.  พวกสิถิละ  คือ  พวกทำเหตุดีเพียงเล็กน้อย  แต่จะเอาผลดีมาก ๆ  เป็นพวกที่ลงทุนน้อย  แต่จะเอากำไรหลายเท่า  ทำทานเล็กน้อย  แต่อยากจะได้ผลของทานมาก  ๆ   ฟังธรรมนิดหน่อย  แต่ปรารถนาบรรลุธรรม ฯลฯ


สติ  คือ  อะไร ?

สติ  คือ  เจตสิกธรรม  เป็นนามธรรม  เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต  ดับพร้อมกับจิต  สติเกิดกับกุศลจิตเท่านั้น

หน้าที่ของสติ

๑.  สติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กายและใจ

๒.  สติกั้นกระแสกิเลสทั้งหลาย  เพราะเหตุว่า ขณะใดจิตเป็นกุศล  ขณะนั้นจิตมีสติเกิดร่วมด้วย
กิเลสเกิดกับกุศลจิตไม่ได้

๓.  สติเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจไม่ให้ไหลไปในทางเสื่อม

๔.  สติเป็นเครื่องระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของสิ่งเกิดดับ  

๕.  สติเป็นเครื่องระลึกรู้ขณะบำเพ็ญกุศล  เช่น  ขณะทำทาน  ขณะฟังธรรม ฯลฯ

๖.  สติเป็นเครื่องระลึกรู้การประพฤติปฏิบัติทางกาย  วาจา และใจ 


คำอุปมาของสติ

-  สติเสมือนเสาหลัก  เพราะปักแน่นในอารมณ์  คือ  คนที่มีสติ เมื่อจะไตร่ตรองคิดในเรื่องใด  ใจก็จะปักแน่นในเรื่องนั้น  อย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น ๆ  จะคิดไตร่ตรองจนกระจ่างแจ้งในเรื่องนั้น  จึงเปรียบเสมือนเสาหลัก

-  สติเสมือนนายประตู  เพราะทำหน้าที่เสมือนนายประตู  ที่คอยเฝ้าดูสิ่งต่าง ๆ  ที่จะผ่านเข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น  กาย  ใจ  ตลอดจนเฝ้าดูอาการของจิตที่ซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ  จึงเป็นเสมือนนายประตู

-  สติเสมือนขุนคลัง  เพราะคอยตรวจตราอยู่ทุกเมื่อ  ว่าของที่ได้เข้ามาและใช้ออกไปมีเท่าไร  มีงบบุญงบบาปของเราเป็นอย่างไร  ตรวจตราอย่างละเอียดถี่ถ้วน  ไม่ยอมให้ตนเองเป็นหนี้บาป

-  สติเสมือนหางเสือ  เพราะสติเป็นตัวทำหน้าที่ควบคุมเส้นทางดำเนินชีวิต  ให้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้  ไม่หลงไปกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (อกุศล)  จึงเป็นเสมือนหางเสือ ระวังไม่ให้เรือแล่นไปไม่ตรงทางตามเป้าหมาย  หรือขึ้นไปเกยตื้น


ประโยชน์ของสติ

๑.  สติเป็นพื้นฐานทำให้เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงของรูปธรรมและนามธรรม

๒.  สติเป็นธรรมเครื่องคุ้มครองความประพฤติและปฏิบัติทางกาย วาจาและใจ 
      ให้เป็นไปในทางกุศล

๓.  สติเป็นธรรมเครื่องกั้นการคิดนึกที่เป็นอกุศลต่าง ๆ  ไม่ให้เกิด

๔.  สติเป็นธรรมที่ทำให้สมาธิตั้งมั่นได้นาน

๕.  สติเป็นธรรมที่ทำให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญงอกงามไพบูลย์

๕.  สติเป็นธรรมที่เกื้อกูลให้ปัญญามีพละกำลังจนสามารถบรรลุธรรมในขั้นสูงได้


การฝึกสติเพื่อให้เป็นผู้ไม่ประมาท

๑.  ฝึกระลึกถึงการละเว้นทุจริตทางกาย  วาจา  ใจ  อยู่เนื่อง ๆ  มิได้ขาด

๒.  ฝึกระลึกถึงการประพฤติสุจริตทางกาย  วาจา  ใจ  อยู่เนื่อง ๆ  มิได้ขาด

๓.  ฝึกสติระลึกถึงความทุกข์ในอบายภูมิอยู่เนือง ๆ  มิได้ขาด

๔.  ฝึกสติระลึกถึงความทุกข์  อันเกิดจากการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ใน
      วัฏฏสงสารอยู่เนือง ๆ มิได้ขาด

๕.  ฝึกสติระลึกถึงกรรมฐานภาวนาที่จะละราคะ  โทสะ  โมหะ  ให้ขาดจาก
      สันดานอยู่เนือง ๆ มิได้ขาด


สิ่งที่ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง

๑.  ไม่ประมาทในเวลา  ควรระลึกอยู่เสมอว่า  "วันคืนล่วงไป  บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่"  อย่ามัวแต่ทำในสิ่งที่ไร้สาระ  ให้เร่งรีบสะสมความดี

๒.  ไม่ประมาทในวัย   ควรระลึกเตือนตนอยู่เสมอว่า  อย่าคิดว่าตนยังเป็นเด็กอยู่  จึงเที่ยวเพลิดเพลินไปวัน ๆ  สักวันเราก็จะต้องเข้าวัยชรา อย่ามัวเที่ยวอยู่เลย  ควรขวนขวายศึกษาหาความรู้  ควรสะสมความดีไว้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ก็จะไม่แก่ตายเปล่า

๓.  ไม่ประมาทในความไม่มีโรค   ควรระลึกเตือนตนอยู่เสมอว่า  อย่าคิดว่าเราจะแข็งแรงอยู่เสมอเช่นนี้ตลอดไป  ถ้าอกุศลกรรมส่งผลเมื่อไร  เราก็จะต้องเจ็บป่วยอย่างกระทันได้เหมือนกัน  เพราะฉะนั้น  ตอนที่กำลังแข็งแรงดีอยู่ ก็ควรใฝ่ใจเร่งสร้างบุญกุศลให้มาก

๔.  ไม่ประมาทในชีวิต  ควรระลึกเสมอว่า  ชีวิตนี้น้อยนัก  ความสุขต่าง ๆ  ก็ไม่จีรัง  เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  ไม่มีสิ่งใดยั่งยืนนาน  แม้ชีวิตเราไม่ช้าก็ต้องดับไปเช่นกัน  เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรประมาท

๕.  ไม่ประมาทในการงาน  ควรระลึกเตือนตนอยู่เสมอว่า  จะต้องทำงานทุกอย่างในหน้าที่ที่รับผิดชอบให้สำเร็จไปด้วยความถูกต้องและมีประสิทธิภาพด้วย  ทำงานด้วยฉันทะ  ขันติและวิริยะ  

๖.  ไม่ประมาทในการศึกษา  ควรระลึกเตือนตนอยู่เสมอว่า  จะขวนขวายหาความรู้อย่างเต็มที่  ทำอย่างทุ่มเท  ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการศึกษาหาความรู้  ซึ่งจะเป็นกุญแจไขปัญหาชีวิต

๗.  ไม่ประมาทในการปฏิบัติธรรม ควรระลึกเตือนตนอยู่เสมอว่า  จะศึกษาหาความรู้ด้วยฟังธรรมะ  ศึกษาพระไตรปิฎก  สวดมนต์  ฝึกอบรมเจริญสติ  ทำบุญ  ทำทานและรักษาศีล  สนทนาธรรมตามกาล


อานิสงส์การไม่ประมาทในธรรม

๑.  ทำให้ได้รับมหากุศล

๒.  ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ตาย  สมดังพุทธพจน์

๓.  ทำให้ไม่ตกไปสู่อบายภูมิ

๔.  ทำให้คลายจากความทุกข์

๕.  ทำให้เพลิดเพลิน  ไม่เบื่อหน่ายในการบำเพ็ญกุศล

๖.  สติเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตบ่อย ๆ  เพราะสติเป็นโสภณธรรม

๗.  ทำให้ได้รับความสุขในการดำรงชีพ

๘.  ทำให้เป็นคนตื่นตัวเสมอ ไม่ละเลยที่จะบำเพ็ญความดี

๙.  ทำให้ความประพฤติปฏิบัติในทางอกุศล  เสื่อมสิ้นไปได้โดยเร็ว





"ปมาโท  มจฺจุโน  ปทํ

ความประมาท  เป็นทางแห่งความตาย

อปฺปมาโท  อมตํ  ปทํ

ความไม่ประมาท  เป็นทางอมตะ"




.......................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น