Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ


                                        คนเคารพ         นบนอบ        ผู้อื่นได้      
                                        ย่อมไม่ไร้         ความรัก       แลเอ็นดู
                                        จะทำกิจ           การใด          ก็เฟื่องฟู       
                                        ทั้งเชิดชู           ชื่อเสียง       วงศ์ตระกูล
                                        การน้อมนำ      พระธรรม     คำสั่งสอน   
                                        ใช่ขอพร           กิเลส            มาพอกพูน
                                        ประมาท           ขาดสติ         มิเกื้อกูล   
                                        จะอาดูร            โศกเศร้า      เผากายใจ


ความเคารพ  หมายถึง  อะไร ?

ความเคารพ  หมาย  ถึง  ความตระหนัก ซาบซึ้ง ในคุณความดีของบุคคลอื่น  ยอมรับนับถือความดีของเขาด้วยใจจริง  แสดงความนับถือต่อบุคคลนั้นด้วยความอ่อนน้อม  อ่อนโยน อย่างเหมาะสม  ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

สิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่ง  มี  ๗  ประการ  ดังนี้

๑.  ความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.  มีความเคารพในพระธรรม

๓.  มีความเคารพในพระสงฆ์

๔.  มีความเคารพในการศึกษา

๕.  มีความเคารพในสมาธิ

๖.  มีความเคารพในความไม่ประมาท

๗.  มีความเคารพในการต้อนรับแขก

๑.  ความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  หมายถึง  การตระหนักถึงพระปัญญาคุณ  พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาที่คุณ  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพโดย

๑.  ไปนมัสการพระเจดีย์ตามโอกาส

๒.  ไปนมัสการสังเวชนียสถาน  คือ สถานที่ประสูติ  ตรัสรู้  ปฐมเทศนา ปรินิพพาน ตามโอกาส

๓.  เคารพพระพุทธรูป

๔.  เคารพเขตพุทธวาส  คือ เขตโบสถ์

๕.  ไม่สวมรองเท้าในลานพระเจดีย์

๖.  ไม่กางร่มในลานพระเจดีย์

๗.  เมื่อเดินใกล้พระเจดีย์  ไม่เดินไปพูดไป

๘.  เมื่อเข้าในเขตอุโบสถ  ก็ถอดรองเท้า  หุบร่ม  ไม่ทำอาการต่าง ๆ ซึ่งแสดงถึงความกระด้าง หยาบคาย

๙.  ปฏิบัติตนตามพุทธโอวาทอยู่เป็นนิตย์

๒.  ความเคารพในพระธรรม  หมายถึง  การตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ  ดังนี้

๑.  เมื่อมีประการแสดงธรรมก็ไปฟัง

๒.  ฟังธรรมด้วยความสงบ สำรวม ตั้งใจ

๓.  ไม่นั่งหลับ  ไม่นั่งคุยกัน  ไม่คิดฟุ้งซ่าน  ขณะฟังธรรม

๔.  ไม่วางหนังสือธรรมะไว้ในที่ต่ำ

๕.  ไม่ดูหมิ่นพระธรรม

๖.  บอกธรรม  สอนธรรม ด้วยความระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด


๓.  ความเคารพในพระสงฆ์  คือ  การตระหนักถึงคุณความดีของพระสงฆ์  ผู้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  เป็นผู้สืบพระพุทธศาสนา  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ  ดังนี้

๑.  การกราบไหว้ด้วยกิริยาอาการเรียบร้อย

๒.  นั่งเรียบร้อย  ไม่นั่งกอดเข่าเจ่าจุก

๓.  ไม่สวมรองเท้า ไม่กางร่มในที่ประชุมสงฆ์

๔.  ไม่คะนองมือคะนองเท้าต่อหน้าท่าน

๕.  เมื่อพระเถระไม่เชิญ  ไม่แสดงธรรม

๖.  เมื่อพระเถระไม่เชิญ  ไม่อวดรู้แก้ปัญหาธรรม

๗.  ไม่เดิน  ยืน  นั่ง  เบียดพระเถระ

๘.  แลดูท่านด้วยจิตเลื่อมใส

๙.  ต้อนรับท่านด้วยไทยธรรม

๔.  ความเคารพในการศึกษา  หมายถึง  การตระหนักถึงคุณค่าของการศึกษาหาความรู้  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ โดยตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่  ทั้งทางโลกและทางธรรม  จะศึกษาเรื่องใดก็ศึกษาให้รู้ถึงแก่น  ให้เข้าใจแจ่มแจ้งกระจ่างจริง ๆ  มีการบำรุงการศึกษา  ให้การสนับสนุนการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมด้วย

๕.  ความเคารพในสมาธิ  หมายถึง  การตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของการอบรมเจริญสมาธิ  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ  โดยการตั้งใจฝึกอบรมเจริญสมาธิอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง  เพราะเหตุว่าสมาธิเป็นการฝึกจิตให้มีความสงบจากกิเลสทั้งปวง  เมื่อสมาธิตั้งมั่นจิตจะสามารถพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสิ่งกำลังปรากฏขณะนี้ได้  นอกจากนั้น การรักษาศีลก็จะเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิได้ง่าย  เพราะเหตุว่า  ศีลเป็นธรรมเครื่องป้องกันความประพฤติอกุศลทางกายและวาจา  ดังนั้น สมาธิจึงเป็นหัวใจหลักในการกระทำความดีทุกประเภท

๖.  ความเคารพในความไม่ประมาท  หมายถึง  การตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการมีสติระลึกรู้สภาพธรรมต่าง ๆ  ในชีวิตประจำวัน  เช่น  ระลึกรู้ตัวในการทำงานต่าง  ๆ  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพโดยหมั่นฝึกอบรมเจริญสติเนื่อง  ๆ  จนกระทั่งสติสามารถเกิดระลึกรู้สภาพธรรมได้บ่อยขึ้น

๗.  ความเคารพในการต้อนรับแขก  หมายถึง  การตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการต้อนรับแขก  ว่าทำให้ไม่ก่อศัตรู  ปกติคนเราจะให้ดีพร้อม ทำอะไรถูกใจผู้อื่นทุกอย่างย่อมเป็นไปไม่ได้  อาจมีข้อบกพร่องบ้างเป็นธรรมดา  การต้อนรับแขกเป็นการสร้างมิตรไมตรีกับผู้อื่น  เพราะฉะนั้น  จึงควรให้ความเคารพในการต้อนรับแขก  ซึ่งมีหลักปฏิบัติ  ๒  ประการ  ดังนี้

                 ๑.  อามิสปฏิสันถาร   คือ  การต้อนรับด้วยสิงของ  เช่น  อาหาร น้ำดื่ม  เลี้ยงดูอย่างดีและเป็นกันเอง

                 ๒.  ธรรมปฏิสันถาร    คือ  การต้อนรับด้วยธรรม  เช่น  การสนทนาธรรม  แนะนำธรรมให้แก่กัน  

การแสดงความเคารพ

การแสดงความเคารพ  คือ  การแสดงความตระหนักในคุณความดีของสิ่งที่เราเคารพด้วยใจจริง  ให้ปรากฏชัดแก่บุคคลทั่วไป  ด้วยการแสดงออกทางกาย  วาจา  มีอยู่หลายวิธี  เช่น การหลีกทางให้  ลุกขึ้นยืนต้อนรับ  การให้ที่นั่งแก่ท่าน  การประนมมือเวลาพูดกับท่าน  การกราบ  การไหว้  การขออนุญาตก่อนทำกิจต่าง ๆ  การวันทยาหัตถ์  การยิงสลุต  การลดธง  เหล่านี้เป็นการแสดงความเคารพทั้งสิ้น

การแสดงความเคารพที่ถูกต้องตามหลักธรรม  หมายถึง  การแสดงออกเพราะว่าตระหนักในคุณความดีของสิ่งที่เคารพด้วยใจจริง  


ข้อเตือนใจ

ความเคารพ  คือ  การตระหนักในความดีของผู้อื่นและสิ่งอื่น  ผู้ที่จะตระหนักในความดีของผู้อื่นและสิ่งอื่นได้นั้น  จะต้องเป็นผู้มีปัญญาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  จึงจะสามารถตระหนักได้  ว่าสิ่งใดสมควรและสิ่งใดไม่สมควร

บางคนไม่อยากแสดงความเคารพคนอื่น  ถึงแม้ว่าคนนั้นจะมีบุญคุณต่อตนก็ตาม  ทำเมินเฉย  มักจะเป็นเพราะว่า  มีความเข้าใจผิด ว่าการแสดงกิริยาเคารพผู้อื่นนั้น  เป็นการลดศักดิ์ศรีของตน  เกรงว่าตนเองจะด้อยไป  เมื่อผู้อื่นเห็น  นั่นคือ  เป็นผู้มีความเห็นผิดอย่างยิ่ง  เป็นผู้ไม่มีปัญญาก็ว่าได้


อานิสงค์การมีความเคารพ

๑.  ทำให้เป็นคนน่ารัก  น่าเอ็นดู  น่าเกรงใจ

๒.  ทำให้ได้รับความสุขกาย  สบายใจ

๓.  ทำให้ไม่มีความเดือดร้อน  ไม่มีเวร  ไม่มีภัย

๔.  ทำให้สามารถรับการถ่ายทอดความดีจากผู้อื่นได้ง่าย

๕.  ทำให้ผู้อื่นอย่างช่วยเหลือ เพิ่มเติมความดีให้

๖.   ทำให้สติดีขึ้น  เป็นผู้ไม่ประมาท

๗.  ทำให้เป็นคนมีปัญญาละเอียดอ่อน  รู้จริง  และทำได้จริง

๘.  ทำให้เกิดในตระกูลสูงไปทุกภพทุกชาติ

๙.  ทำให้บรรลุมรรคผลได้โดยง่าย



.............................................







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น