Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๒๙ การได้เห็นสมณะ


                                   สมณะคือ               ผู้ละ                  จากบาป    
                                  ไม่จ้วงจาบ             หยาบละโมบ    โลภมาก
                                  มีความสง่่า             สงบ                   ที่พบได้ยาก   
                                  หมั่นเพียรพาก       ขจัด                  กิเลสตัญหา
                                  การเห็น                   สมณะ               เป็นบุญยิ่ง    
                                  อย่ามัวนิ่ง               เฉยเมย             ไม่นำพา
                                  ตรึกในธรรม           ที่ท่าน                บรรยายมา   
                                  แล้วศึกษา              นำมา                 ขัดเกลาตน


สมณะ  คือ  ใคร ?

สมณะ  แปลว่า  ผู้สงบ  หมายถึง  บรรพชิตที่ได้บำเพ็ญสมณธรรม  อบรมฝึกฝนตนเองด้วยศีล  สมาธิ ปัญญา มาแล้วอย่างเต็มที่  จนกระทั้งมีกาย วาจา และใจ  สงบจากอกุศล  สมณะทุกรูปจึงต้องเป็นบรรพชิต  แต่บรรพชิตบางรูปอาจไม่ได้เป็นสมณะก็ได้  เพราะเหตุว่า  ไม่ปฏิบัติกิจวัตรของสมณะอย่างถูกต้อง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  คนที่เราตถาคตเรียกว่า  สมณะ นั้น  จะต้องเป็นผู้ระงับจากการทำบาปน้อยใหญ่เสีย


ลักษณะของสมณะ  มีดังนี้

๑.  สมณะต้องสงบกาย  คือ มีความสำรวม ไม่คะนอง มีกิริยางดงาม 

๒.  สมณะต้องสงบวาจา  คือ  ไม่เป็นคนปากร้าย  ไม่นินทาว่าร้ายผู้อื่น  ไม่ยุยงใส่ร้ายป้ายสีให้เข้าใจผิด 

๓.  สมณะต้องสงบใจ  คือ  ทำใจให้สงบเป็นสุขอยู่ภายใน  สงบจากบาปกรรม  ตรึกนึกถึงธรรมเป็นอารมณ์    จิตใจของสมณะที่แท้ย่อมเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา  ไม่เป็นพิษภัยต่อใคร

การที่มีความสงบกาย  วาจา  ใจ ทั้ง ๓ ประการนี้  ส่งผลให้สมณะมีความสง่างามอยู่ในตัว


ลักษณะของสมณะในเชิงปฏิบัติ

๑.  สมณะต้องไม่ทำอันตรายใคร  ไม่ว่าทางกายหรือทางวาจา  ไม่ทำความเดือดร้อนให้ผู้ใด  ไม่คิดร้ายผู้อื่น

๒.  สมณะต้องไม่เห็นแก่ลาภ  ดำรงชีพอยู่เพียงเพื่อทำความเพียร  มีความสันโดษ 

๓.  สมณะต้องบำเพ็ญสมณธรรม  พยายามฝึกฝนตนเอง  ไม่เกียจคร้าน  ขยันบำเพ็ญกิจวัตรของสมณะ

๔.  สมณะต้องบำเพ็ญตบะ  คือ  ทำความเพียรเพื่อกำจัดกิเลส


ชนิดของการเห็นสมณะ  แบ่งออกเป็น  ๓  ระดับ

๑.  เห็นด้วยตา  เรียกว่า พบเห็น  คือ  เห็นถึงรูปร่าง ลักษณะกิริยามารยาทอันสง่างามและสงบของท่าน

๒.  เห็นด้วยใจ  เรียกว่า  คิดเห็น  คือ นอกจากจะเห็นตัวท่านซึ่งเป็นสมณะบุคคลแล้ว  ยังพิจาณาตรองดูด้วยใจ  จนสามารถคาดคะเนได้ถึงคุณธรรมภายใน   ที่ทำให้ท่านสงบเสงี่ยม  แต่สง่างามอย่างน่าอัศจรรย์  หรือเรียกว่า  เห็นถึงสมณธรรมของท่าน

๓.  เห็นด้วยญาณ  เรียกว่า  รู้เห็น  คือ  เห็นด้วยญาณทัศนะ  เห็นด้วยปัญญาทางธรรม  ว่าท่านมีคุณธรรมมากเพียงใด  เป็นการเห็นของผู้ที่ปฏบัติธรรมมาดีแล้ว  จนเข้าถึงธรรมภายในตัว 


กิจที่ควรทำเพื่อให้เกิดประโยชน์จากการเห็นสมณะ

๑.  ต้องเข้าไปหา  หมายถึง  หมั่นเข้าใกล้และเห็นคุณค่าในการเห็นสมณะ  พยายามเข้าไปหาท่านเสมอเพื่อรับการถ่ายทอดคุณธรรม

๒.  ต้องเข้าไปบำรุง  หมายถึง  เข้าไปช่วยทำกิจของท่าน  เช่น ปัดกวาดเชิดถูกุฏิ จัดหาปัจจัย ๔ ไปถวาย

๓.  ตามฟัง  หมายถึง  ตั้งใจฟังคำสั่งสอนของท่านด้วยความตั้งใจจดจ่อ  และด้วยความเคารพ  

๔.  ตามระลึกถึงท่าน  หมายถึง  เมื่อได้พบและฟังคำสอนของท่านแล้ว  ก็ตามระลึกถึงคำสอน  ทั้งกิริยามารยาทของท่าน  นำคำสั่งสอนของท่านมาไตร่ตรองพิจารณาอยู่่เสมอ

๕.  ตามดูตามเห็น  หมายถึง  ดูท่านด้วยตาเนื้อของเรา  ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างหนึ่ง และตามดูท่านด้วยความคิดและปัญญาทางธรรม  ให้เห็นตัวสมณธรรมของท่านอีกอย่างหนึ่ง  


ขอควรปฏิบัติเมื่อพบสมณะ

๑.  ถ้าไทยธรรมมีอยู่  พึงต้อนรับด้วยไทยธรรมนั้นตามสมควร

๒.  ถ้าไทยธรรมไม่มี  พึงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์

๓.  ถ้าไม่สะดวกในการกราบก็ประณมมือไหว้

๔.  ถ้าไหว้ไม่สะดวกก็ยืนตรง หรือแสดงความเคารพด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง  เช่น หลีกทางให้

๕.  อย่างน้อยที่สุด  ต้องแลดูด้วยจิตเลื่อมใส


อานิสงส์ของการเห็นสมณะ

๑.  ทำให้ได้สติ  ฉุกคิดถึงบุญกุศล

๒.  ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดีตามท่าน

๓.  ทำให้ตาแจ่มใสดุจแก้วมณี

๔.  ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท

๕.  ชื่อว่าได้บูชาพระรัตนตรัยอย่างยิ่ง

๖.  ทำให้ได้สมบัติ ๓  คือ มนุษยสมบัติ  ทิพยสมบัติและนิพพานสมบัติ  โดยง่าย

๗.  ทำให้บรรลุมรรคผลโดยง่าย


...............................












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น