ถิ่นใดก็ ตามมี ความสะดวก
มีพรรคพวก เอื้อเฟื้อ และเกื้อหนุน
พร้อมทั้ง ปัจจัยสี่ มีเจือจุน
ได้สร้างบุญ ทำทาน สำราญใจ
ยามป่วยไข้ มีหมอ ช่วยรักษา
ทั้งวิชา ความรู้ มีแหล่งให้
ไม่ห่างไกล ชุมชน แลปลอดภัย
ควรเลือกไว้ อาศัย ทำความดี
การอยู่ในถิ่นอันสมควร หมายถึง ถิ่นที่เอื้ออำนวยต่อการที่จะสร้างบุญกุศล เช่น มีโอกาสได้ฟังธรรม ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมตามกาล นอกจากนั้นควรประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพทางกายและใจด้วย เป็นถิ่นที่สามารถประกอบสัมมาอาชีพได้ตามความสามารถ จนประสบความสำเร็จมีความเจริญก้าวหน้าได้ ต้องเป็นถิ่นที่มีแหล่งให้วิชาความรู้ มีสถานพยาบาล สถานบริการต่าง ๆ แหล่งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความสะดวกในด้านอุปโภคและบริโภค จึงจัดว่าเป็นถิ่นอันสำควรอยู่อาศัย
ถิ่นอันสมควรแก่การอยู่ ควรพิจารณาได้ ๔ ประการ ดังนี้
๑. อาวาสเป็นที่สบาย หมายถึง สถานที่อยู่นั้นเป็นแหล่งที่มีคมนาคมสะดวก เป็นแหล่งชุมชนที่ไม่แออัดมากเกินไป มีความสะอาดและสะดวกสบาย มีอากาศดีไม่เป็นพิษต่อร่างกาย
๒. อาหารเป็นที่สบาย หมายถึง มีอาหารสำหรับบริโภคไม่ขาดแคลน เป็นแหล่งที่สามารถซื้อหาได้ไม่ยาก พืชผักธรรมชาติอุดมสมบูรณ์
๓. บุคคลเป็นที่สบาย หมายถึง เป็นถิ่นที่มีคนดี มีไมตรี เอื้อเฟื้อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีศีลธรรม ไม่เป็นแหล่งที่มีอิทธิพลของพวกคนพาล
๔. ธรรมะเป็นที่สบาย หมายถึง ความดีงาม ความถูกต้องและความเหมาะสม ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประการ ดังนี้
- ในทางโลก หมายถึง สถานบันการศึกษาต่าง ๆ สถานที่ราชการ หน่วยงานต่าง ๆ การบริหารบ้านเมืองด้วยดี ด้วยความถูกต้องตามกฏหมายและกฏระเบียบ
- ในทางธรรม หมายถึง ถิ่นนั้นเป็นที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมในการศึกษาพระธรรม อบรมจิตใจ เป็นแหล่งเผยแผ่พระธรรม และเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ผู้ที่อาศัยอยู่ในถิ่นนั้นเป็นผู้อยู่ในศีลธรรม ใฝ่ในธรรม เป็นต้น
อานิสงส์ของการอยู่ในถิ่นอันสมควร มีดังนี้
๑. ทำให้มีโอกาสได้สร้างบุญกุศลได้อย่างเต็มที่ตามต้องการ
๒. ทำให้ได้รับความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม
๓. ทำให้ได้มีโอกาสฟังธรรมตามกาล
๔. ทำให้ได้สัมผัสและลิ้มรสพระสัทธรรม ด้วยการศึกษาพระธรรม
๕. ทำให้ได้รู้จักพระธรรมอันประเสริฐ เพราะฟังแล้วพิจารณาไตร่ตรอง
๖. ทำให้ได้มีโอกาสจรรโลกพระศาสนา
๗. ทำให้ได้มีโอกาส ทำทาน รักษาศีลและอบรมเจริญสมาธิ
๘. ทำให้ได้สะสมบุญกุศลเป็นเสบียงในชาติหน้า
๙. ทำให้ได้พบบัณฑิต ซึ่งจะช่วยชักนำให้ทำในสิ่งที่เป็นกุศล
๑๐. ทำให้ได้อริยทรัพย์ เป็นปัจจัยให้บรรลุธรรมขั้นอริยบุคคล
๑๑. ทำให้ได้พบกับความสุขและความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง
๑๒. ทำให้ได้รับความสุขทั้งกายและใจ เพราะมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง
...................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น