Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๑๙ ละเว้นจากบาป


 การคิดผิด   ทำผิด   จิตเป็นพิษ     

ขาดญาติมิตร   คบหา   สมาคม

จะพบ   ความตกต่ำ   และล่มจม   

จะขื่นขม   ชอกช้ำ   ระกำใจ

ผู้ใด   ไม่ละอาย   เกรงกลัวบาป    

เหมือนโดน   สาปไว้    อย่างไร้เยื่อใย

ขอกล่าวเตือน   ท่านไว้   เป็นภายใน   

จงเลื่อมใส   ในพระธรรม   คำสอนเถิด


บาป  หมายถึง  อะไร ?

บาป  หมายถึง  สภาพจิตที่เศร้าหมอง  เป็นทุกข์  ไม่สบายใจ  ร้อนรุ่ม  จิตขุ่นมัว  หงุดหงิด  ฟุ้งซ่านรำคาญใจ  ฯลฯ สภาพธรรมเหล่านี้  เรียกว่า  บาป  (อกุศลจิต)

บาปหรืออกุศลจิต  เป็นนามธรรม  เป็นสภาพธรรมที่มีผลเป็นทุกข์กายและทุกข์ทางใจ  ผู้ใดกระทำอกุศลกรรมทางกาย  ทางวาจาและทางใจ  ผู้นั้นย่อมได้รับผลเป็นทุกข์   มีทุกข์เป็นกำไร  มีที่ไปสู่ภพหน้าคือทุคติ 

บาปเป็นสิ่งที่ล้างไม่ได้  แต่เลี่ยงที่จะกระทำบาปได้  ด้วยการฝึกอบรมเจริญสติ  ฝึกระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ตามความเป็นจริง  ฝึกระลึกรู้อยู่เนื่อง ๆ  จนกว่าสติมีกำลังจนสามารถกั้นกระแสกิเลสได้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

"สุทธิ  อสุทธิ  ปจฺจตฺตํ

ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์  เป็นเรื่องเฉพาะตัว"

"นาญโญ  อญฺญํ  วิโสธเย

ใครจะไถ่บาป  ทำให้คนอื่นบริสุทธิ์ไม่ได้"


ในพระพุทธศาสนาวิธีแก้บาปก็คือ  การหยุดกระทำบาป  แล้วตั้งใจกระทำความดี  สั่งสมบุญกุศลให้มากขึ้น  เพราะเหตุว่า บาปหรือบุญนั้นไม่ได้สูญหายไปไหนเลย  ผู้ใดทำบาป  ผู้นั้นก็ได้บาปติดตัวไป หรือผู้ใดสะสมบุญกุศล  ผู้นั้นก็ได้บุญกุศลติดตัวไปภพหน้า  เมื่อหมั่นสะสมบุญมากขึ้น  บาปย่อมลดลงได้  เพราะว่าไม่ได้กระทำบาปเพิ่ม  หรือว่ากระทำบาปน้อยลง   


ละเว้นจากการทำบาป  หมายความ  อย่างไร ?

ละเว้นจากการทำบาปหรืออกุศลกรรม  หมายความถึง  การกระทำใด ๆ  ก็ตามทั้งทางกาย  ทางวาจาและทางใจ  ที่เป็นอกุศลหรือบาป  เป็นความชั่วร้าย  ทำให้จิตเศร้าหมองไม่ควรแก่การงาน  ทำให้ทุกข์กายทุกข์ใจ  มีโทษมากแก่ตนเอง  ก็พยายามละเว้นเสีย  ไม่กระทำอีกต่อไปเป็นอันขาด  


สิ่งที่ทำแล้วเป็นบาป  ได้แก่  อกุศลกรรมบถ ๑๐  ประการ

๑.  ฆ่าสัตว์  เช่น  การฆ่าคน  ฆ่าสัตว์ต่าง ๆ  รวมทั้งการเบียดเบียนสัตว์ด้วย

๒.  ลักทรัพย์  เช่น  การลักขโมย  ปล้น  จี้  ฉ้อโกง  หลอกลวง  คอร์รัปชั่น

๓.  ประพฤติผิดในกาม  เช่น  เป็นชู้  ฉุดคร่า  อนาจาร

๔.  พูดเท็จ  เช่น  พูดโกหก  พูดเสริมเกินความจริง  ปลอมเอกสาร  

๕.  พูดส่อเสียด  เช่น  พูดยุยงส่งเสริมให้เข้าใจผิด  พูดเพื่อให้ทะเลาะแตกความสามัคคีกัน

๖.  พูดคำหยาบ  เช่น  ด่า  ประชด  สาปแช่ง  ว่ากระทบ

๗.  พูดเพ้อเจ้อ  เช่น  พูดพล่าม  พูดเหลวไหล  พูดโอ้อวด

๘.  คิดโลภมาก  เช่น  อยากได้ในทางทุจริต  เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของ ๆ ผู้อื่น

๙.  คิดพยาบาท  เช่น  คิดอาฆาต  คิดแก้แค้น  คิดปองร้าย

๑๐.  มีความเห็นผิด  เช่น  เห็นว่าบุญบาปไม่มี  เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณ  เห็นว่าตายแล้วสูญ  เห็นว่ากฏแห่งกรรมไม่มี  เห็นว่านรกสวรรค์ไม่มี  เทวดาไม่่มี


วิธีละเว้นจากบาปให้สำเร็จ

การที่จะละเว้นจากการไม่กระทำอกุศลหรือบาปนั้น  ต้องเป็นผู้มีคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง  ซึ่งเป็นคุณธรรมที่จรรโลงโลก  ได้แก่  "หิริโอตตัปปะ"

คำว่า  หิริ  คือ  ความละอายต่อบาป   ความละอายที่จะประพฤติปฏิบัติตนอันน่ารังเกียจ  มีความละอายที่จะกระทำชั่ว  ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครรู้เห็นก็ไม่ยอมทำ  เพราะเหตุว่า  เกิดความไม่สบายใจ  มีความละอายเห็นว่า  การทำชั่วเป็นสิ่งสกปรก  ทำให้จิตเศร้าหมอง  เป็นทุกข์  จึงไม่ยอมกระทำบาป

คำว่า  โอตตัปปะ  คือ  ความเกรงกลัวต่อบาป  กลัวการที่จะต้องได้เสวยผลของบาป  กลัวความทุกข์กายทุกข์ใจจะเกิดขึ้นกับตนหลังจากได้กระทำบาปไปแล้ว  จึงไม่ยอมกระทำบาป

เหตุที่ทำให้เกิดหิริ

๑.  คำนึงถึงความเป็นคน  หรือชาติกตระกูล  "การที่ได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของมหากุศล  ที่ได้ทำไว้แล้วแต่ชาติปางก่อน  ไม่ควรที่จะประพฤติปฏิบัติเยี่ยงสัตว์  ไม่ควรฆ่าสัตว์ ไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น  ไม่ควรลักขโมย  ไม่ควรเล่นชู้  ไม่ควรพูดจากหยาบคาย  ไม่ควรพูดเท็จ  ไม่ควรเสพสิ่งมึนเมา  ถ้านึกคิดได้เช่นนี้  ก็จะเกิดความละอายในการทำบาปได้

๒.  คำนึงถึงอายุ  "เรานี่ก็มีอายุมากแล้ว  เป็นผู้ใหญ่ที่เด็ก ๆ  เขาให้ความเคารพนับถือ  จะมากระทำสิ่งไม่ดีไม่งามต่าง ๆ  มันน่ารังเกียจสิ้นดี  ถึงแม้มนุษย์ไม่มีใครเห็น  แต่เทวดาเห็นก็จะยิ่งน่ารังเกียจที่สุดเลย  ถ้ามีใครรู้เห็นเข้าเราก็คงจะไม่มีใครเขาอยากคบหาสมาคมด้วยแน่นอนเลย"  เมื่อคำนึงถึงวัยได้เช่นนี้  ก็จะละเว้นการทำบาปได้

๓.  คำนึงถึงความดีที่เคยทำ  "เมื่อก่อนเราก็ยังมีความสามารถทำแต่สิ่งที่ดี ๆ  ได้เยอะแยะไปหมด  มาตอนนี้จะคิดทำความชั่ว  มันไม่สมควรน่ะ  ถ้าคนอื่นเขารู้เห็นจะทำไงดี  อยู่ ๆ  เราจะกลายเป็นผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนชั่ว  กล้าทำในสิ่งที่ชั่วร้ายอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน  ไม่เอาดีกว่า  ขืนทำไปต้องเดือดร้อนแน่ ๆ  อับอายขายหน้า"  ถ้าคำนึงได้เช่นนี้ก็จะเกิดหิริได้

๔.  คำนึงถึงพระหูสูต  "เราก็เป็นผู้สดับมาก  รู้มาก  ศึกษามาก  รู้ว่าอะไรดี  อะไรไม่ดี  อะไรควร อะไรไม่ควร  รู้สารพัดที่คนบางคนไม่รู้  แล้วจะมาทำในสิ่งไม่ควรทำ  มันไม่สมควรเลยนะเนี่ย  ไม่เอาล่ะ  ทำไปก็เสียหายหมด  แถมยังเดือดร้อนใจ  อย่าเลย"  เมื่อคำนึงได้เช่นนี้  ก็จะเกิดความละอายต่อการทำบาปได้

๕.  คำนึงถึงพระศาสดา  "พระพุทธองค์ท่านทรงสั่งสอนว่า  ให้ละบาป  สร้างกุศล  ทำใจให้เบิกบาน  เราได้ฟังและได้ศึกษาพระธรรมก็มากพอสมควรแล้ว   ควรที่จะน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติตาม  ควรที่จะนำพระธรรมมาเป็นที่พึ่งที่ยึดไม่ให้จิตไหลไปในทางที่ต่ำ"  เมื่อคำนึงถึงพระศาสดาก็สามารถเกิด "หิริ" ได้

๖.  คำนึงถึงครูบาอาจารย์  สถาบันศึกษา  " เราก็เป็นศิษย์จบมาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง  เป็นศิษย์มีครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน  ล้วนแต่เป็นครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงดัง ๆ ทั้งนั้น  นี่ถ้าเราทำไม่ดีก็จะต้องเสียชื่อเสียงของสถาบันและครูอาจารย์ด้วยนะเนี่ย  ดังนั้น เราอย่าควรทำบาปเลยน่ะ  ไม่เกิดประโยชน์เลย  จะมีแต่ความทุกข์ความเสียหายมากมายตามมา  อย่าเลยดีกว่า"  การคำนึงได้เช่นนี้ก็เกิดหิริได้


เหตุที่ทำให้เกิดโอตตัปปะ

๑.  กลัวคนอื่นตำหนิ  การที่กระทำในสิ่งที่ไม่ดี  เมื่อผู้อื่นรู้เห็นเข้าก็จะถูกตำหนิให้อับอายขายหน้าได้  เพราะฉะนั้น  จึงไม่กระทำชั่วด้วยความกลัวผู้อื่นตำหนิตน

๒.  กลัวการลงโทษ  ถ้ากระทำในสิ่งที่ไม่ดีอย่างร้ายแรง  มีโทษมากถึงกับได้รับการลงโทษอย่างหนัก  เมื่อรู้ว่าจะต้องได้รับการลงโทษก็เกิดความกลัว  จึงไม่กล้าที่จะกระทำบาป

๓.  กลัวการเกิดในทุคติ  เมื่อรู้ว่าถ้ากระทำในสิ่งที่ไม่ดี  เป็นบาปเป็นอกุศล  มีผลเป็นทุกข์   มีที่ไปในภพหน้าคือ ทุคติภูมิ  ก็เกิดความกลัวที่จะกระทำบาป
  

อานิสงส์ของการละเว้นบาป

๑.  ทำให้เป็นคนไม่มีเวร ไม่มีภัย

๒.  ทำให้เกิดมหากุศลตามมา

๓.  ทำให้โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียนน

๔.  ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท

๕.  ทำให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น

๕.  ทำให้จิตใจผ่องใส  พร้อมที่จะรองรับคุณธรรมในขั้นสูงต่อไปได้


..........................................







   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น