Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๒๖ ฟังธรรมตามกาล



                                การฟังธรรม             ตามกาล            เป็นสิ่งดี    
                                ธรรมไม่มี                  เกิดมี                 หายสงสัย
                                ความหม่นหมอง      ข้องใจ               แลอาลัย   
                                สมุทัย                        ควรรู้                  เหตุแห่งทุกข์
                                การฟังธรรม             คือการ               สะสมทุน     
                                เพื่อเป็นบุญ              ส่งผล                 ให้ตนสุข
                                มีธรรม                      ประจำใจ            ดุจประมุข      
                                ไม่ล้มรุก                   คลุกคลาน          รำคาญใจ
                                อีกชาติหน้า             เกิดมา                มีปัญญา    
                                เพียรศึกษา              อบรม                  บ่มนิสัย
                                ฝึกตน                      ให้เป็นคน            มีวินัย    
                                เป็นปัจจัย                ให้ได้                   มรรคผลเอย


การฟังธรรมตามกาล  หมายถึง  อะไร ?


การฟังธรรมตามกาล  หมายถึง  การขวนขวายหาเวลาไปฟังธรรม  ฟังคำสั่งสอนจากผู้มีธรรมะ  เพื่อยกระดับจิตใจและสติปัญญาให้สูงขึ้น  โดยเมื่อฟังธรรมแล้ว  ก็น้อมนำเอาคุณธรรมเหล่านั้น มาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  นำมาปรับปรุงการดำเนินชีวิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กาลที่ควรฟัง

๑.  วันธรรมสวนะ  คือ  วันพระนั่นเอง  เฉลี่ยประมาณ ๗ วัน/ครั้ง  เพราะเหตุว่าในวันพระเป็นวันที่คนส่วนใหญ่จะไปบำเพ็ญบุญกุศลที่วัด  และพระท่านก็จะมีการแสดงธรรม  จึงเป็นโอกาสที่ผู้ไปทำบุญจะได้ฟังธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.  เมื่อจิตถูกวิตกครอบงำ  คือ  เมื่อใดก็ตามที่มีความคิดอกุศลเกิดกับจิต  ทำให้จิตขุ่นมัว  เศร้าหมอง ฟุ้งซ่าน  รำคาญใจ  ก็อยากจะไปฟังพระธรรม  เพื่อให้จิตมีความสบายสงบเยือกเย็นขึ้น

                 ความคิดที่ทำให้จิตเศร้าหมอง  แบ่งได้ ๓ ประเภท  ดังนี้
               
                 ๒.๑  เมื่อกามวิตกกำเริบ  คือ  เมื่อจิตฟุ้งซ่านด้วยเรื่องเพศ  เรื่องรูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัสทางกาย  ความอาลัยอาวรณ์  ห่วงหา  ติดข้อง  ต้องการ  พอใจในสิ่งอันเป็นที่รักที่ปรารถนา

                 ๒.๒  เมื่อพยาบาทวิตกกำเริบ คือ  เมื่อจิตถูกความโกรธเข้าครอบงำ  เกิดความรู้สึกอยากล้างผลาญ  ทำลายผู้อื่น  ไม่ว่าจะเป็นการคิดเผาผลาญทรัพย์  ผลาญชีวิตหรือผลาญเกียรติยศ ศักดิ์ศรีก็ตาม
จิตย่อมเศร้าหมองได้

                 ๒.๓  เมื่อวิหิงสาวิตกกำเริบ  คือ  เมื่อใดที่จิตเกิดความคิดอยากจะเบียดเบียนผู้อื่น  คิดเอาเปรียบผู้อื่น  คิดกลั่นแกล้ง  รังแกผู้อื่น  เมื่อนั้นจิตเศร้าหมองย่อมเกิดขึ้นแก่ตนได้

๓.  เมื่อมีผู้รู้แสดงธรรม  คือ เมื่อมีผู้มีความรู้  มีความสามารถและมีธรรมมาแสดง  ให้รีบไปฟัง  เพราะเหตุว่าผู้รู้ธรรมและสามารถแสดงธรรมให้ผู้อื่นเข้าใจได้ถูกต้องนั้น  หาได้ยากมากในโลก  ต้องรอจนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกก่อน  แล้วต้องตั้งใจศึกษาธรรมของพระองค์จนประจักษ์แจ้ง  จึงจะมีความสามารถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นฟังและเข้าใจได้   ดังนั้น  เมื่อมีโอกาสเช่นนี้ก็ควรที่จะเร่งรีบไปฟังธรรมจากท่าน


อุปนิสัยจากการฟังธรรม

                   อุปนิสัย  หมายถึง  ความประพฤติ  ความเคยชินที่ได้สะสมมาและติดตัวมา  และก็จะติดตัวไปในภายหน้าด้วย

การฟังธรรม  เป็นการสะสมความรู้ความเข้าใจ  เป็นปัญญาขั้นฟัง  เป็นพื้นฐานที่จะปรุงแต่งจิตให้เข้าใจมากขึ้น ๆ   การฟังธรรมบ่อย ๆ  จะเป็นอุปนิสับสืบต่อไปในชาติหน้าด้วย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  ผู้ที่หมั่นฟังธรรม   แล้วพยายามศึกษาทำความเข้าใจ  ถึงฟังไม่เข้าใจก็พยายามจำ  จะได้รับอานิสงส์  ๔  ประการ  คือ

                     ๑.  เมื่อละจากโลกนี้ไป  ย่อมเกิดในเทวโลก  มีปัญญารู้ธรรมได้เร็ว  สามารถระลึกได้ด้วยตนเอง  และปฏิบัติตามธรรมนั้น  บรรลุธรรมได้เร็ว

                     ๒.  เมื่อละจากโลกนี้ไป  ย่อมเกิดในเทวโลก  แม้มีภิกษุผู้มีฤทธิ์ขึ้นไปแสดงธรรม  ก็จะระลึกถึงธรรมได้และบรรลุมรรคผลได้เร็ว

                     ๓.  เมื่อละจากโลกนี้ไป  ย่อมเกิดในเทวโลก  แม้ไม่มีภิกษุผู้มีฤทธิ์ขึ้นไปแสดงธรรม  แต่เมื่อได้ฟังเทพบุตรแสดงธรรมให้ฟัง  ก็จะระลึกถึงธรรมได้  และบรรลุธรรมได้เร็ว

                     ๔.  เมื่อละจากโลกนี้ไป  ย่อมเกิดในเทวโลก  แม้ไม่มีภิกษุผู้มีฤทธิ์หรือเทพแสดงธรรม  แต่เมื่อได้ยินคำตักเตือนจากเพื่อนเทพบุตรด้วยกัน  ก็สามารถระลึกธรรมได้  และบรรุลมรรคผลได้


อานิสงส์การฟังธรรมตามกาล

๑.  เป็นการเพิ่มพูนความรู้ใหม่  เพราะการฟังธรรม  ทำให้เราได้ยินได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังมาก่อน

๒.  เป็นการทบทวนความรู้เดิม  การได้ฟังธรรมซ้ำ ๆ  กันบ่อย ๆ  ซึ่งเราเคยฟังมาแล้ว  ทำให้ได้ทบทวนความรู้เดิม และได้พิจารณาไตร่ตรอง  จนเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น  สามารถจดจำได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

๓.  เป็นการปลดเปลื้องความลังเลสงสัย  เมื่อผู้ฟังยังมีความลังเลสงสัยในเรื่องบำเพ็ญกุศลและอกุศล  เมื่อได้ฟังธรรมเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว  ความลังเลสงสัยก็จะหมดไปได้

๔.  เป็นการปรับความเห็นให้ตรง   การดำเนินชีวิตให้ถึงจุดมุ่งหมายนั้น  จะต้องประสบกับอุปสรรคอย่างมากมาย  หรือเรียกอีกอย่างว่า  ถูกมารคอยขัดขวางมากมาย   "มาร"  คือ กิเลสของตนนั่นเอง  เช่น  ความเห็นผิด  เป็นเหตุให้มีการประพฤติปฏิบัติตนไปในทางที่ผิด  ๆ  ทำให้ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย  เมื่อได้ฟังธรรม  แล้วน้อมนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง  ย่อมประสบความสำเร็จได้  

๕.  เป็นการฝึกอบรมจิตใจให้สูงขึ้น  การฟังธรรมเป็นเครื่องเตือนสติ   ทำให้เลิกจากความคิดฟุ้งซ่านในเรื่องกาม  ความคิดพยาบาทอาฆาต  ความคิดเบียดเบียนผู้อื่น และสอดส่องชี้ทางให้เราเห็นถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องในตัว  ซึ่งจะต้องปรับปรุงแก้ไข  ยกระดับจิตให้สูงขึ้น ๆ  จนกระทั่งสามารถขจัดข้อบกพร่องได้เด็ดขาด  จนสามาถบรรลุมรรคผลได้ในที่สุด




.........................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น