Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์




                               การประพฤติ             อันประเสริฐ           อย่างพรหม    
                               คืออบรมจิต               ไม่ติด                     ในกาม
                               กามเปรียบเหมือน     สมบัติ                    อันงดงาม      
                               ชั่วครู่ยาม                  เขาตาม                 เอาคืนไป
                               สุดแสน                      จะเสียดาย             นั่งฟูมฟาย             
                               น่าละอาย                   อดสู                       อยู่ทำไม
                               ฝึกพูดดี                     ทำดี                       คิดดีไว้       
                               จิตผ่องใส                  กายใน                   ดุจดั่งพรหม
                               ผู้ครองเรือน               ต้องรักษา              ศีลห้า   
                               ท่านบอกว่า               ชาติหน้า                ไม่ตรอมตรม
                               สมาธิ                          ตั้งมั่น                     ปัญญาคม    
                               กามารมณ์                 ดับได้                     ใจกระจ่างเอย


ประพฤติพรหมจรรย์  คือ  อะไร ?

การประพฤติพรหมจรรย์  หมายถึง  การประพฤติธรรมอันประเสริฐหรือการประพฤติตนอย่างพระพรหม  หมายถึง  การประพฤติตนตามคุณธรรมต่าง ๆ  ตามหลักพระพุทธศาสนา  เพื่อป้องกันมิกิเลสฟู
กลับขึ้นมาอีก  จนกระทั่งหมดกิเลสโดยผ่านขั้นตอนการปฏิบัติตามภูมิขั้นของจิต 


ทำไมต้องประพฤติพรหมจรรย์  ?

การประพฤติพรหมจรรย์  ก็เพื่อละอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน  มีกามราคะ  ความขัดเขืองใจ ความเห็นผิด  ความลังเลสงสัย  ความถือตัว  ความปรารถนาในภพ  ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง  คือ อวิชชา  และเพื่อความดับทุกข์ทั้งปวง  อันเป็นหนทางบรรลุธรรมในขั้นสูงสุด  



ภูมิชั้นนของจิต  
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า  จิตของคนแบ่งตามภูมิชั้นได้  ๔  ระดับ  
ตามการฝึกฝนของตนเอง  คือ

๑.  กามาวจรภูมิ  เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามารมณ์  ยังติดข้อง ยินดี พอใจอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ได้แก่  จิตของบุคคลทั่วไป

๒.  รูปาวจรภูมิ  เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปารมณ์  มีความสุขอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาน  ได้แก่  ภูมิจิตของผู้ที่ฝึกอบรมเจริญสมาธิตั้งมั่นจนกระทั่งเข้าถึงรูปฌาน  มีความอิ่มเอิบในวิหารธรรม  เป็นความสุขที่ประณีตกว่ากามารมณ์  เป็นเหมือนพระหรมบนดิน  เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว  ก็จะปฏิสนธิเป็นรูปพรหมในพรหมโลก

๓.  อรูปาวจรภูมิ  เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปารมณ์  มีความสุขอยู่ในอารมณของอรูปฌาน  ได้แก่  จิตของผู้ที่เจริญสมาธิตั้งมั่นจนกระทั่งได้อรูปฌาน  มีความสุขประณีตยิ่งกว่าอารมณ์ของรูปฌานอีก  เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว  ก็จะปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมในพรหมโลก

๔.  โลกุตตรภูมิ  เป็นชั้นที่พ้นจากโลกแล้ว  ได้ก่  ภูมิจิตของอริยบุคคล  มีความสุขอันละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง  เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีเกิดดับ


การประพฤติพรหมจรรย์  มีความมุ่งหมาย  อย่างไร ?

การประพฤติพรหมจรรย์  มีความมุ่งหมายสุดยอดในพระพุทธศาสนา  คือ  ให้ตัดโลกียวิสัย  ตัดความติดข้อง ยินดี พอใจในอารมณ์ต่าง ๆ  เพื่อมุ่งสู่โลกุตตรภูมิ  โดยการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘  เพื่อตัดกามารมณ์  รูปารมณ์ และอรูปารมณ์   ตามลำดับของกำลังปัญญา


ลักษณะการประพฤติพรหมจรรย์  แบ่งได้ดังนี้

๑.  การให้ทาน   คือ การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น

๒.  การขนขวายในการทำประโยชน์   หมายถึง  การช่วยเหลือผู้อื่นด้วย   

๓.  การรักษาศีล ๕   คือ  เพื่อป้องการกระทำผิดทางกายและทางวาจา

๔.  มีเมตตา    คือ เป็นมิตรไมตรี  เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกับทุกคน

๕.  พอใจแต่ในคู่ครองของตน   คือ  ไม่นอกใจคู่ครองของตน

๖.  เว้นเสพเมถุน  ผู้อยู่ในเพศนักบวชไม่ควรเสพเมถุน

๗.  ทำความเพียร  คือ  ความพยายามพรากเพียรเพื่อกระทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้น  เพียรละความชั่ว

๘.  รักษาศีลอุโบสถ  คือ  การรักษาศีล ๘  ให้บริสุทธิ์

๙.  การบำเพ็ญมรรค  มรรคอันประกอบด้วยองค์  ๘  ได้แก่  สัมมาทิฏฐิ  สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  และสัมมาสมาธิ  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า  อริยมรรค  เป็น  เบื้องต้นของพรหมจรรย์  ส่วนความสิ้นราคะ  โทสะ  โมหะ เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์

๑๐.  การปฏิบัติธรรมทุกข้อในพระพุทธศาสนา


อานิสงส์การประพฤติพรหมจรรย์

๑.  ทำให้ปลอดโปร่งใจ ไม่ต้องกังวลหรือระแวง

๒.  ทำให้เป็นอิสระ เหมือนนกน้อยในอากาศ

๓.  ทำให้มีเวลามากในการทำความดี

๔.  ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งหลาย

๕.  ทำให้ ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญรุดหน้าไม่ถอยกลับ

๖.  ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย




.......................................






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น