Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๓๗ จิตปราศจากธุลี


                               จิตมี                    ธุลีกิเลส                ห่อหุ้ม          
                                แตกแยกกลุ่ม   รากเง่า                 ออกเป็นสาม
                               โลภะ                  เพื่อนสนิท           คอยติดตาม       
                               โทสะราม          ร้อนรุ่ม                  ดุจไฟสุ่ม
                               โมหะ                 ความหลงผิด       ปิดมืดมิด    
                               ให้เห็นผิด         คิดผิด                   จิตกลัดกลุ้ม
                               เมื่อธุลี               ไม่มี                       มาครอบคลุม    
                               ทุกซอกมุม        สดใส                     ไร้ราคี
                          


จิตปราศจากธุลี  คือ  อะไร ?

ธุลี  แปลว่า  ผุ่นละอองที่ละเอียดมาก  ในที่นี้หมายถึง  กิเลสอย่างละเอียดที่เกาะซึมแทรกหุ้มใจของเราอย่างซ่อนเร้นบาง ๆ  ทำให้ความผิดผ่อง  ความใสสะอาดเสียไป  ถ้าไม่สังเกตุจะไม่เห็นไม่รู้

จิตปราศจากธุลี  หมายถึง  จิตที่หมดกิเลสแล้วทั้งหยาบทั้งละเอียด  อย่างถอนรากถอนโคน  ไม่่มีทางฟืนกลับเข้ามาในใจได้อีก   ทำให้จิตสะอาดผ่องใส  นุ่มนวลควรแก่การงาน  ได้แก่จิตของพระอรหันต์


ประเภทของกิเลส

กิเลสหรือเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต  แบ่งเป็น  ๓  ประเภทใหญ่ ๆ   คือ   ราคะหรือโลภะ  โทสะ  โมหะ
กิเลสแต่ละประเภทมีหลายระดับ  ตั้งแต่หยาบมาก ๆ  จนถึงอย่างละเอียดมาก  ๆ  เหมือนกับธุลีหรือฝุ่นผง
ซึ่งถ้าไม่เคยศึกษาเรื่องลักษณะของกิเลสมาก่อน  ก็จะไม่สามารถรู้ได้เลย  ว่าตนยังมีกิเลสอยูมากมาย

๑.  ราคะหรือโลภะ  คือ  ความติดข้อง  ยินดี  พอใจ  ความใคร่  ความต้องการ  ปรารถนา  อย่ากได้  ความกำหนัด ในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมู ลิ้น กายและใจ  ซึ่งแบ่งอารมณ์ได้ตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด  ดังนี้

              ๑.๑  อภิชฌาวิสมโลภะ  ความโลภอย่างรุนแรง  จนกระทั่งแสดงออกมา  เช่น  ปล้นจี้  ลักขโมย

              ๑.๒  อภิชฌา  ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของ ๆ  ผู้อื่น  เพียงคิดอยากได้  แต่ยังไม่แสดงออก

              ๑.๓  โลภะ  ความยินดี  พอใจ  ติดข้อ  ต้องการ  อยากได้

              ๑.๔  กามราคะ  ความพอใจในกาม   ความรักเพศตรงข้าม  ยังมีความต้องการทางเพศ  มีความยินดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผสทางกาย  ธรรมารมณ์

               ๑.๕  รูปราคะ  ความยินดีในอารมณ์ของรูปฌาน  เป็นเรื่องของผู้ได้ฌานจิตขั้นรูปฌาน

               ๑.๖  อรูปราคะ  ความยินดีติดข้องพอใจในอารมณ์ของอรูปฌาน  เป็นเรื่องของผู้ได้ฌานจิตขั้นอรูปฌาน

               ข้อ ๑.๔ - ๑.๖  จัดเป็นกิเลสอย่างละเอียด  เรียกว่า  ธุลีประเภท  ราคะ


๒.  โทสะ  คือ  ความไม่ชอบใจ  ขุ่นเคืองใจ  ไม่สบายใจ  หดหู่  ความคิดร้าย  คิดทำลายผู้ที่ทำให้ตนโกรธ  มีตั้งแต่หยาบถึงละเอียด  ดังนี้

                ๒.๑  พยาบาท  ความผูกอาฆาต  จองเวร  อยากแก้แค้น ไม่ยอมอภัย  บางทีข้ามภพชาติก็ยังไม่ยอม  เช่น  พระเทวทัตผูกพยาบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่ภพในอดีตมา

                ๒.๒  โทสะ  ความคิดร้าย  คิดทำลาย  เช่น  คิดจะฆ่า  คิดจะเตะ  คิดจะด่า  เพียงแค่คิดแต่ยังไม่ลงมือกระทำ

                ๒.๓  โกธะ  ความเดือดดาลใจ  คือ  คิดโกรธแต่ยังไม่ถึงกับคิดทำร้ายใคร

                ๒.๔  ปฏิฆะ  ความขัดใจ  เป็นความไม่พอใจลึก ๆ  ยังไม่ถึงกับโกรธ  แต่มันขัดใจ

                ข้อ ๒.๔  จัดเป็นธุลี  เป็นกิเลสอย่างละเอียดในประเภทโทสะ


๓.   โมหะ  คือ  ความหลง  เป็นอาการที่จิดมืดมน  ไม่รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง  ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี  ไม่รู้จักกุศลอกุศล  กิเลสประเภทโมหะมีตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด  ดังนี้

                 ๓.๑  มิจฉาทิฏฐิ  ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม  เช่น  เห็นว่า พอแม่ไม่มีพระคุณ  เห็นว่าบุญบาปไม่มี  เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มี  เป็นต้น

                 ๓.๒  โมหะ  ความหลงผิด  ความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี

                 ๓.๓  สักกายทิฏฐิ  ความเห็นว่าเป็นตัวตน  เช่น  คิดว่าร่างกายนี้เป็นของเราจริง  

                 ๓.๔  วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม  เช่น  ยังไม่มั่นใจร้อยเปร์เซนต์  ว่าบุญบาปมีจริงไหม  ทำสมาธิแล้วจะหมดกิเลสจริงหรือ  สงสัยในพระธรรม

                  ๓.๕  สีลัพพตปรามาส  ความติดอยู่ในศีลพรตอย่างงมงาย  เช่น  เชื่อในมงคลตื่นข่าว  เชื่อหมอดู  เชื่อเรื่องเจ้าเข้าทรง  เชื่อศาลพระภูมิ  

                  ๓.๖  มานะ  ความสำคัญตน  ความถือตน  ถือเขาถือเรา

                  ๓.๗  อุทธัจจะ  ความฟุ้งซ่าน  เป็นอาการที่จิตไหวกระเพื่อมน้อย ๆ  ยังไม่หยุดนิ่งสนิทบริบูรณ์  ไม่ได้หมาายถึงความฟุ้งซ่าน  ไม่รู้ตัวอย่างที่คนทั่ว ๆ  ไปเป็นกัน

                  ๓.๘  อวิชชา  ความไม่รู้สัทธรรม  เช่น  ไม่รู้ว่าตัวเรามาจากไหน  เกิดมาทำไม  ตายแล้วจะไปไหน

                  ตั้งแต่ข้อ  ๓.๓ -๓.๘  จัดเป็นธุลี  เป็นกิเลสอย่างละเอียดในประเภทโมหะ 


โดยสรุป  ธุลี  หมายถึง  กิเลสอย่างละเอียดทั้ง ๓  ประเภท  รวม ๑๐ ประการ  ดังนี้

๑.  สักกายทิฏฐิ

๒.  วิจิกิจฉา

๓.  สีลัพพตปรามาส

๔.  กามราคะ

๕.  ปฏิฆะ

๖.  รูปราคะ

๗.  อรูปราคะ

๘.  มานะ

๙.  อุทธัจจะ

๑๐.  อสิชชา

กิเลส ๑๐  ประการนี้  รวมเรียกว่า  สังโยชน์ ๑๐ 
      
-   พระโสดาบันสามารถละ สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  และสีลัพพตปรามาสได้  มีความเชื่อมั่นในคุณของพระรัตนตรัยอย่างเต็มที่  ไม่มีความลังเลสังสัยเลย

-  พระสกิทาคามีละได้  ๓  ข้อแรก  เช่นเดียวกับพระโสดาบัน  

-  พระอนาคามีละได้เพิ่มอีก ๒  ข้อ  คือ  กามราคะและปฏิฆะ

-  พระอรหันต์เท่านั้น  ที่ละสังโยชน์ธุลีกิเลสได้ทั้งหมด ๑๐ ข้อ  ละได้สิ้นเชิง  มีจิตผ่องใสบริสุทธิ์ตลอด


ระดับโทษของกิเลส  ๓  ประเภท

ราคะ  มีโทษน้อย  แต่คลายช้า  อยู่กันฉันสามีภรรยา  ถือว่าไม่ผิดศีลธรรม ขออย่านอกใจไปมีชู้  โทษของราคะไม่ค่อยหนักมาก  แต่การจะเลิกนั้นยากมาก  คลายช้า  

โทสะ  มีโทษมาก  แต่คลายเร็ว  เวลาโกรธขัดใจมาก  ๆ  ถึงกับฆ่ากันได้  บางคนถึงขนาดฆ่าพ่อแม่ของตนได้  ทำอนันตริยกรรมก็ยังได้  มีโทษมาก แต่ทว่าคลายเร็ว  ถ้าเขามาขอโทษขอโพย  เอาอกเอาใจไม่นานก็หาย   โทสะคลายเร็วอย่างนี้

โมหะ  มีโทษมาก    คลายช้าด้วย  ความหลง  ความไม่รู้พระสัทธรรม  นี้มีโทษมาก  ทำให้เราหลงไปทำบาปตกนรกเสียย่ำแย่  เราต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารกันมานับชาติไม่ถ้วน  ทนทุกข์กันตลอดมาก็เพราะโมหะนี่เอง  และแถมเจ้าโมหะความหลงนี้ยังคลายช้าด้วย  คนลงไม่รู้จักบุญบาปละก็  กว่าจะแก้ไขได้ท่านว่าหืดขึ้นคอเลย  บางทีก็ต้องรอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อ ๆ  ไปมาโปรด  ก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้หายหรือเปล่า


ข้อควรปฏิบัติ

เราควรทราบว่ากิเลสทั้ง ๓ ประเภทนี้  ตราบใดถ้ายังไม่ถูกประหารจนหมดสิ้น  มันสามารถกลับฟูและเจริญงอกงามอีกได้  เพราะฉะนั้น  จึงควรศึกษาธรรม  ฟังธรรมจนเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อน  แล้วจึงอบรมเจริญสติเนื่อง ๆ  รักษาศีล ๕  ตั้งใจฝึกสมาธิภาวนาไปตามลำดับขั้นตอน  จนกระทั่งจิตมีความสงบควรแก่การงาน  ตั้งมั่นได้นาน  เกิดสติปัญญาระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง  ไม่ประมาท  หมั่นฝึกอย่างต่อเนื่อง  หมั่นสะสมกุศลให้มากยิ่งขึ้น  เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมแล้ว  สักวันหนึ่งจิตก็อาจจะหลุดพ้นจากธุลีกิเลส  สามารถบรรลุธรรมขั้นบรมสุขได้เช่นกัน



....................................





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น