ความจริง อันประเสริฐยิ่ง มีสี่
ใครจะหนี ทุกข์กายใจ ไปได้
ทุกข์ประจำ เป็นธรรมดา ไซร้
ทุกข์จรใคร่ ไตร่ตรอง ด้วยปัญญา
ตัณหาสาม เหตุแห่ง สมุทัย
เป็นเพื่อนใกล้ หลอกใช้ ทุกเวลา
ทุกข์ดับได้ ด้วยหมั่น ภาวนา
ด้วยมรรคา ทางตรง มีองค์แปด
อริยสัจจ์ ๔ คือ อะไร ?
อริยสัจจ์ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ
ความจริงที่ทำให้บุคคลผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐ มี ๔ ประการ ดังนี้
อริยสัจจ์ที่ ๑ ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่าง ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพบความจริงว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนตกอยู่ในกองทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็มีทุกข์ทั้งนั้น จะแตกต่างกันคือ บางคนมีทุกข์น้อย บางคนมีทุกข์มาก ว่าแต่จะมีปัญญารู้ทุกข์หรือเปล่าเท่านั้น
พระองค์ได้ทรงแบ่งทุกข์ออกเป็น ๒ ลักษณะ ดังนี้
๑. สภาวทุกข์ คือ ทุกข์ประจำ เป็นสภาพธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะเป็นสภาพธรรมดาของสัตว์ เมื่อเกิดมาแล้วต้องมี ทุกช์ชนิดนี้มี ๓ ประการ ได้แก่
- ชาติ คือ การเกิด
- ชรา คือ ความแก่
- มรณะ คือ การตาย
๒. ปกิณณกทุกข์ คือ ทุกข์จร เป็นทุกข์ที่จากจิตยังไม่รับการฝึกอบรมเจริญสติ ไม่มีสติคุ้มครองจิต ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จิตไหลไปตามอารมณ์ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ จึงเกิดทุกข์ใจหรือโทมนัสเวทนาได้ ผู้ฝึกอบรมเจริญสติอยู่เนื่อง ๆ ในชีวิตประจำวันสติย่อมเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้บ่อย ๆ ย่อมจะมีทุกข์ใจน้อยลงได้
ทุกข์จรมี ๘ ประการ ดังนี้
- โสกะ ความโศก ความแห้งใจ ความกระวนกระวายใจ
- ปริเทวะ ความคร่ำครวญรำพัน
- ทุกขะ ความเจ็บไข้ได้ป่วย
- โทมนัสสะ ความน้อยใจ ขึ้งเคียด
- อุปายาสะ ความท้อแท้กลุ้มใจ ความอาลัยอาวรณ์
- อัปปิเยหิ สัมปโยคะ ความขัดข้องหมองมัว ตรอมใจ
จากการประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
- ปิเยหิ วิปปโยคะ ความโศกศัลย์โศกเศร้าเมื่อพลัดพรากจากของรัก
- ยัมปิจฉัง นลภติ ความหม่นหมองจากการปรารถนาสิ่งใดแล้ว ไม่ได้สิ่งนั้น
อริยสัจจ์ ๒ สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ผู้ไม่รู้สภาพธรรมตามความจริงที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ย่อมไม่สามารถรู้เหตุแห่งความทุกข์ได้ เพราะเหตุว่าการรู้นั้นต้องรู้ด้วยปัญญาตามลำดับขั้น ด้วยการอบรมเจริญศีล สมาธิ ปัญญา
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประจักษ์แจ้งในอริยสัจจ์ว่า เหตุของทุกข์ทั้งหลายนั้น มาจาก ตัณหา คือ ความทะยานอยากในใจของเราเอง แบ่งได้ ๓ ประเภท ดังนี้
๑. กามตัณหา ความติดข้อง ต้องการ ความยินดี ความพอใจ ปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
๒. ภวตัณหา ความยินดีพอใจในความมีความเป็น รวมทั้งความยินดีในภพชาติ การเกิด
๓. วิภวตัณหา ความอยากในความไม่มีไม่เป็น
อริยสัจจ์ที่ ๓ นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เป็นสภาพจิตที่หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง
หมดตัณหาหมดทุกข์ มีจิตสงบตั้งมั่นมีความสุขล้วน ๆ ไม่มีกิเลสเจือปน ไม่มีเกิดไม่มีดับ
สภาพธรรมเช่นนี้ เรียกว่า นิพพาน
อริยสัจจ์ ๔ มรรค คือ วิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับทุกข์ มี ๘ ประการ ดังนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ คือ ความเห็นถูกต้อง เช่น เห็นว่าพ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริง นรกและสวรรค์มีจริง ฯลฯ เบื้องสูงคือ เห็นทุกข์ เหตุแห่งทุกข์
ความดับทุกข์และวิธีปฏิบัติเพื่อดับทกุข์
๒. สัมมาสังกัปปะ มีความคิดชอบ คือ คิดออกจากกาม คิดไม่พยาบาท คิดไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียดให้เขากแตกแยก ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ อวดอ้างความดีของตัวหรือทับถมผู้อื่น
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และประพฤติพรหมจรรย์ เว้นจากการเสพกาม
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือ เลิกการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด ประกอบอาชีพในทางที่ถูกต้อง
๖. สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ เพียรป้องกันบาปอกุศล ที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรสร้างกุศลคุณความดีที่ยังไมาเกิดให้เกิดขึ้น และเพียรบำรุงกุศลคุณความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
๗. สัมมาสติ มีความระลึกชอบ คือ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน มีสติระลึกรู้ได้เนื่อง หมั่นระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ
๘. สัมมาสมาธิ มีใจตั้งมั่นชอบ คือ มีจิตสงบตั้งมั่น สงบจากอกุศลทั้งหลาย เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม จนบรรลุขั้นฌานจิตตามลำดับ จนเข้าถึงธรรมกาย จากสมาธิระดับโลกียะไปสู่สมาธิที่เป็นระดับโลกุตตระ
มรรค ๘ นี้ ถ้าขยายออกไปแล้ว ก็จะได้แก่คำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ถ้าย่อก็จะได้แก่ไตรสิกขา หัวใจพระพุทธศาสนา มีดังนี้ ศีล สมาธิ ปัญญา
มรรค ๘ นี้ ให้ปฏิบัติไปพร้อมกันทั้ง ๘ ข้อ เป็นการฝึกจิตตามวิถีของเหตุผล ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น