Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๓๕ ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม


                                ทุกคนหนี             ไม่พ้น               โลกธรรม      
                                เพราะมีกรรม       เป็นเครื่อง         กำกับไว้                            
                                สรรพสิ่ง               ทั้งหลาย           แปรปรวนได้    
                                ผู้ใดไม่                 หวั่นไหว            ย่อมเป็นสุข
                                ลาภยศ                 สรรเสริญสุข     ทุกคนปอง   
                                ด้วยว่ามอง          ไม่เห็น               เหตุแห่งทุกข์
                                ได้มา                    เสื่อมไป            ใช่เรื่องสนุก    
                                จงรีบลุก               ปลุกตน             ฝึกฝนจิต
                                หมั่นศึกษา           พระธรรม          คำสั่งสอน   
                                เพียรละถอน        ความคิด           ความเห็นผิด
                                รู้ไตรลักษณ์         รู้ธรรม               นำชีวิต     
                                จะพิชิต                ชัยชั้นเลิศ         ประเสริญเอย


จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม  คือ  อะไร ?

จิตหวั่น  คือ  ความหวั่นหวาดกังวล  กลัวว่าจะประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ  
                     กลัวว่าจะประสบกับความผิดหวัง

จิตไหว  คือ  ความปรารถนาอยากได้สิ่งที่รักที่ชอบใจ   

โลกธรรม  คือ  เรื่องราวที่เกิดขึ้นประจำโลก  ใคร ๆ  ก็ต้องพบ  หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย    แม้แต่พระอรหันตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังต้องทรงประสบกับโลกธรรม  

โลกธรรม  มีอยู่ ๘ ประการ    
แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ  ได้แก่

ก.  ฝ่ายที่คนทั่วไปปรารถนาอยากได้  คือ

๑.  ได้ลาภ  คือ  การได้ผลประโยชน์ เช่น ได้ทรัพย์ ได้บุตร-ภรรยา ได้บ้าน ได้ที่ดิน  
      ได้เพชรนิลจินดา           ต่าง ๆ เป็นต้น

๒.  ได้ยศ  คือ  การได้รับตำแหน่ง  ได้รับฐานะ ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต

๓.  ได้สรรเสริญ  คือ  การได้ยินได้ฟังคำชมเชย  คำยกยอ  คำสดุดีที่คนอื่นให้เรา

๔.  ได้สุข  คือ  ได้รับความสบายกายสบายใจ  ได้ความเบิกบานร่าเริง  
      ได้ความเบินเทิงใจ  ทั้ง ๔ อย่างนี้  เป็นเรื่องที่คนทั่วไปชอบ  ยังไม่ได้ก็คิดหา  
       ครั้นหาได้แล้วก็คิดหวง  หวงมาก  ๆ  เข้าก็หึง  การที่จิตมีอาการหา-หวง-ห่วง-หึง  
      นี่แหละ  เรียกว่า  จิตไหว


ข.  ฝ่ายที่คนทั่วไปกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตน  คือ

๑.  เสื่อมลาภ  คือ  ผลประโยชน์ที่ได้มาแล้วเสียไป  เช่น  เสียทรัพย์สิน  เสียที่อยู่อาศัย  เสียคนที่รัก  เสียญาติพี่น้อง  เสียลูกรัก  ภรรยา-สามีที่รัก

๒.  เสื่อมยศ  คือ  ถูกปลดหรือถูกลดความเป็นใหญ่  ถูกถอนออกจากอำนาจ  ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

๓.  ถูกนินทา  คือ  ถูกตำหนิติเตียน  ถูกด่าว่าในที่ต่อหน้าและลับหลัง  

๔.  ตกทุกข์  คือ  ได้รับความทุกข์ทรมาน  ลำบากสบายทางกายหรือทางใจ


จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม  หมายถึง  อะไร ?

จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม  หมายถึง  สภาพจิตของบุคคลผู้ได้ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว  มีจิตตั้งมั่นแน่วแน่ดุจขุนเขา  เป็นอุเบกขาวางเฉยต่ออารมณ์ภายนอกที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ

เมื่อประสบกับความเสื่อมลาภ  ยศ  ถูกนินทา  ตกทุกข์  จิตก็ไม่หวั่นไหว

เมื่อประสบกับการได้ลาภ  ยศ  สรรเสริฐ  เป็นสุข   จิตก็ไม่ไหวั่นไหว

เพราะเหตุว่า  จิตรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ  ว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยง  ไม่ยั่งยืน  ได้มาแล้วก็เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา  คำสรรเสริฐ  นินทา  สุขและทุกข์  ทุกคนต้องประสบในชีวิตประจำวัน  แล้วในที่สุดก็ดับไปตามเหตุปัจจัย  ตามกฎของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น


ไตรลักษณ์  หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  สามัญลักษณะ  คือ  ลักษณะประจำของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก

สามัญลักษณะหมายถึงลักษณะ  ๓  ประการ  คือ  

๑.  อนิจจัง   หมายถึง  ความไม่เที่ยง  ไม่แน่นอน  เปลี่ยนแปลงแปรปรวน  เสื่อมไปเรื่อย ๆ  เป็นธรรมดาของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย

๒.  ทุกขัง   หมายถึง  ความทุกข์อันเกิดจากความไม่แนนอน  ความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  ไม่คงที่ 

๓.  อนัตตา  หมายถึง  ความไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล  บังคับบัญชาไม่ได้  ไม่อยู่ใต้อำนาจของผู้ใด  

ปุถุชนผู้มีกิเลสหนาอยู่ไม่สามารถมองเห็นไตรลักษณ์ได้  จึงมีความติดข้องยินดีบ้างยินร้ายบ้าง  และหวั่นไหวในโลกธรรม  ต้องอยู่กับกองทุกข์ตลอดมา

ส่วนบุคคลผู้ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว  ท่านอยู่เหนือกฏไตรลักษณ์  จิตสงบมั่นคง  มีความสุขยิ่ง  ดับภพชาติสิ้น  ไม่มีความหวั่นไหวต่อโลกธรรมอีกต่อไป  


ข้อเตือนใจ

โบราณท่านสอนว่า  ถ้าอยากจะรู้ว่าใครใครเมื่อถึงคราวตกทุกข์ได้ยาก  แล้วจะพิลาาปรำพันโอดครวญแค่ไหน  ให้ดูขณะที่คนนั้นเวลาดีใจ  ได้ของถูกใจ  ก็หัวเราะฮ่า ๆ  ก็รู้เลยว่า  เมื่อถึงคราวเสียใจ  เสื่อมลาภ  เขาจะร้องไห้โฮ ๆ เป็นช้างร้องเชียว

ตรงกันข้าม  ถ้าเวลาดีใจเขาแค่ยิ้ม ๆ  ก็รู้เลยว่าถึงตอนเสียใจ  อย่างมากก็คงจะแค่กัดฟันหรือนิ่งไปซักพักแล้วก็หาย นี่เป็นอย่างนี้

ท่านจึงเตือนใจไว้ว่า  "ถ้าดีใจก็จงยิ้มเพียงมุมปากเดียว  เมื่อถึงคราวเสียจะได้ไม่ถึงกับร้องไห้"  และยังให้กำลังใจแก่ผู้ตกทุกข์อีกว่า


                                 "ยิ่งมืดเท่าไร  แสดงว่ายิ่งดึก  ยิ่งดึกเท่าไร  ก็แสดงว่ายิ่งใกล้สว่าง"

เพราะฉะนั้น  เมื่อประสบกับความทุกข์  ความเสื่อมลภ  เสื่อมยส  ถูกนินทาปานใด  ก็ควรสู้ทนทำความดีต่อไปเถิด  ยิ่งหนักมากขึ้นแสดงว่ามันใกล้จะพ้นแล้ว  เหมือนยังดึกก็ยิ่งใกล้สว่าง


.......................................










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น