Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๓ การบูชาบุคคลที่ควรบูชา


                                การบูชา          กราบไหว้          เป็นมงคล

                                ขัดเกลาตน     อบรม                 บ่มนิสัย

                                การบูชา          พระรัตตะ-         นะตรัย

                                น้อมจิตไหว้     ด้วยศรัท-          ธาเลื่อมใส

                                บิดามารดา     ครูบา                 อาจารย์

                                ควรอาจหาญ  บูชา                  ด้วยจริงใจ

                                ฝึกจิตไว้          ทำดี                  มีวินัย

                                รู้สิ่งใด              ควรหรือ           มิควรบูชา



การบูชา  คือ  การแสดงความเคารพต่อบุคคลที่ควรเคารพนับถือ  และให้ความยกย่องหรือศรัทธาเลื่อมใสในบุคคลท่านนั้น 

การบูชาแบ่งออกเป็น  ๒  ประเภท

๑.  อามิสบูชา  คือ  การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ  เช่น  บูชาด้วยดอกไม้ของหอม  ธูปเทียน  เป็นการบูชาพระรัตนตรัย  หรือการให้สิ่งของที่มีประโยชน์แก่ผู้มีพระคุณ  เป็นการบูชาคุณความดี  

๒.  ปฏิบัติบูชา  คือ  การบูชาพระรัตนตรัยด้วยการฟังธรรมเพือความเข้าใจ  แล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  การอบรมเจริญความสงบ  การอบรมเจริญเมตตา  การอบรมเจริญสติ  รวมทั้งการอบรมจิตในขั้นสูงสุด  คือ  การอบรมเจริญปัญญา  เป็นการปฏิบัติบูชา


บุคคลที่ควรบูชามีใครบ้าง ?

บุคคลที่ควรบูชา  มี  ๖  บุคคล  ได้แก่

๑.  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เป็นบุคคลผู้เลิศและประเสริฐสุดในโลก  เพราะเหตุว่าพระองค์เป็นบุคคลซึ่งทรงไว้ด้วย  พระปัญญาคุณ  พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ  จึงจัดว่าเป็นบุคคลที่ควรบูชาสำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งปวง

๒.  พระอริยสงฆ์  หมายถึง  พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า  ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  ปฏิบัติตรงตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ดีแล้ว  เป็นผู้เผยแผ่พระธรรมและจรรโลงพระพุทธศาสนา  จึงเป็นบุคคลที่ควรบูชา

๓.  พระมหากษัตริย์  ผู้ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม  เป็นธรรมราชา  จึงจัดว่าเป็นบุคคลผู้ควรบูชา

๔.  บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ผู้มีความประพฤติปฏิบัติดี  อยู่ในศีลธรรม  เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกหลาน  จัดว่าเป็นบุคคลที่ควรบูชา

๕.  ครูบาอาจารย์  ผู้มีความประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลธรรมและในกฏระเบียบวินัยของสถานบัน  มีความรู้ถูกต้องและมีความสามารถในการถ่ายทอดวิชาความรู้

๖.อุปัชฌาย์  หรือผู้บังคับบัญชาที่มีความประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลธรรม  ตั้งมั่นในความสุจริตและทรงความยุติธรรม  มีความเมตตาเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อผู้น้อยสม่ำเสมอ


......................................


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น