Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๓๑ การบำเพ็ญตบะ


                                 เมื่อกิเลส             เผาใจ                   ให้ร้อนรุ่ม    
                                 ดุจไฟสุ่ม            อกหมกไหม้          ทั้งวัน
                                 ต้องตบะ             เพียรเผาผลาญ   โดยพลัน    
                                 ไม่ไหวหวั่น         เกรงกลัว               ต่อสิ่งใด
                                 ควรฝึก               สังวรอินทรีย์         ให้ดี      
                                 ขันติมี                 สติคล่อง                ว่องไว
                                 สมาธิ                  ปัญญา                   ย่อมผ่องใส      
                                 รู้ชัดได้                ตามจริง                สิ่งปรากฏ


ตบะ  คือ  อะไร ?

ตบะ   แปลว่า  ทำให้ร้อน  ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด  รวมความตั้งแต่ การเผา  ลน ย่าง ต้ม ปิ้ง อบ คั่ว ผิง ฯลฯ


การบำเพ็ญตบะ  หมายถึง  การทำความเพียรเผาผลาญกิเลสทั้งปวงให้เร่าร้อน  หรือเผาผลาญให้กิเลสหมดไป  แล้วใจก็จะผ่องใส  หมดทุกข์


ลักษณะการบำเพ็ญตบะ  มีดังนี้

๑.  การมีใจสำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖  (อายตนะภายใน ๖ อย่าง)  ได้แก่  ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ  ไม่ให้หลงติดอยู่กับสัมผัสภายนอกที่มากระทบ ไม่ให้กิเลสครอบงำใจเวลาที่รับรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางอินทรีย์ทั้ง ๖  (อินทรีย์สังวร)
ิิ
๒.  การประพฤติรักษาพรหมจรรย์  เว้นจากการร่วมประเวณี หรือกามกิจทั้งปวง

๓.  การปฏิบัติธรรม  คือ  การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ทางตา หู จมูก ลิ้น  กายและใจ ตามความเป็นจริง  ว่าไม่ใช่ตัวตน  สัตว์  บุคคล  เรา  เขา  เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา  ขณะใดที่จิตรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง  ขณะนั้นศีลบริสุทธิ์  เมื่ออบรมเจริญสติจนมีกำลังมาก  สมาธิย่อมตั้งมั่นและปัญญาย่อมรู้แจ้งและสามารถดับกิเลสให้หมดสิ้นได้


การบำเพ็ญตบะในชีวิตประจำวัน

๑.  มีอินทรียสังวร  คือ  การสำรวมระวังตน  โดยอาศัยสติเป็นเครื่องคุ้มครองทวารหรือช่องทางติดต่อกับภายนอก  มี ๖  ทาง  ได้แก่  ตา หู  จมูก ลิ้น กายและใจ


         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบช่องทางทั้ง ๖ ไว้  ดังนี้

                    ๑.  ตาคนเรานี้เหมือนงู  งูไม่ชอบที่เรียบ ๆ  ชอบที่ลึกลับซับซ้อน ตาคนก็เหมือนกัน ชอบดูสิ่งที่มีลวดลายวิจิตรสวยงาม ชอบดูสิ่งที่ปกปิด ยิ่งห้ามยิ่งชอบ

                    ๒.  หูคนเรานี้เหมือนจระเข้  คือ ชอบที่เย็น ๆ  อยากฟังคำพูดเย็น ๆ  ที่เขาชมตน หรือคำพูดที่ไพเราะกับตน

                    ๓.  จมูกคนเรานี้เหมือนนก  คือ ชอบโผขึ้นไปในอากาศ  พอได้กลิ่นอะไรหน่อยก็ตาม  ดมทีเดียวว่ามาจากไหน

                    ๔.  ลิ้นคนเรานี้เหมือนสุนัขบ้าน  คือ ชอบลิ้มรสอาหาร  วัน ๆ  ขอให้ได้กินของอร่อย ๆ  เที่ยวซอกแซกหาอาหารอร่อย ๆ กินทั้งวัน  ยิ่งพิสดารยิ่งชอบมาก

                    ๕.  กายคนเรานี้เหมือนสุนัขจิ้งจอก  คือ  ชอบที่อุ่น ๆ ที่นุ่ม ๆ ชอบซุก  เดี๋ยวจะไปซุกตักคนโน้น เดี๋ยวจะไปซุกตักคนนี้  ชอบพิงคนโน้น   ชอบจับคนนี้

                    ๖.  ใจคนนี้เหมือนลิง  คือ ชอบซน คิดโน่นคิดนี่ ประเดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน ไม่ยอมอยู่นิ่ง ไม่ยอมสงบ


วิธีที่จะทำให้อินทริยสังวรเกิดขึ้น  ควรฝึกตนให้มีหิิริโอตตัปปะ  คือ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป  โดยคำนึงถึง ชาติตระกูล  อายุ วิชาความรู้ ครูอาจารย์ สำนักศึกษาของตน และอื่น ๆ  ดังรายละเอียดในมงคงที่ ๑๙

ผู้มีอินทรียสังวรดี  ศีลย่อมบริสุทธิ์  ศีลบริสุทธิ์ สมาธิย่อมเกิดได้ง่าย  สมาธิตั้งมั่น ปัญญาก็เกิดขึ้น เป็นความสว่างภายใน  รู้เห็นสิ่งต่าง ๆ  ตามความเป็นจริง  เห็นถึงตัวกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ภายในและสามารถกำจัดให้หมดสิ้น


๒.  ความเพียรในการปฏิบัติธรรม

ความเพียรเป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง  ถ้าต้องการจะทำกิจการงานต่าง ๆ  ให้สำเร็จ  ก็ต้องมีความเพียรเป็นกำลังช่วยเกื้อหนุนให้งานนั้นสำเร็จไปด้วยดี  นอกจากนั้นความเพียรยังเป็นคุณธรรมที่ช่วยทำให้คุณธรรมทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้นได้


อานิสงส์ของความเพียร

๑.  ทำให้เลิกเป็นคนเอาแต่ใจตัวได้ในเร็ววัน

๒.  ทำให้คุณธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นในตน

๓.  ทำให้มงคลข้อต้น ๆ  ทั้งหมดเกิดขึ้นกับเรา

๔.  ทำให้บรรลุมรรคผลได้เร็ว


.........................










วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๓๐ การสนทนาธรรมตามกาล


                                     สนทนา              ธรรมดี               มีสาระ   
                                     ท่านควรจะ         ศึกษา               หาข้อมูล
                                     พูดไพเราะดี       มีผล                 ไพบูลย์  
                                     ที่เกื้อกูล              สติ                    แลปัญญา
                                     ควรกล่าว            ในสิ่ง                ที่เป็นธุระ   
                                     รู้กาละ                  เทศะ                แลเนื้อหา
                                     พูดด้วย               ตั้งใจดี             มีเมตตา    
                                     ด้วยศรัทธา         เลื่่อมใส           ในพระธรรม


การสนทนาธรรมตามกาล  คือ  อะไร ?

การสนทนาธรรมตามกาล  คือ  การพูดคุยซักถามเกี่ยวกับธรรมะซึ่งกันและกัน  ตั้งแต่สองคนขึ้นไป  เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น  โดยผู้สนทนาจะต้องรู้จักเลือกและแบ่งเวลาให้เหมาะสมด้วย  จึงจะได้รับประโยชน์  และขะทำให้ได้รับความเบิกบานใจ  มีความสุขความเจริญและกุศลเจริญยิ่งขึ้น

ความหมายของคำว่า  ธรรมะ  มี  ๒  ประการ

๑.  ธรรมะ  หมายถึง  สภาพธรรมที่มีจริงกำลังปรากฏขณะนี้ให้รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ

๒.  ธรรมะ  หมายถึง  ความดีความถูกต้อง

การสนทนาธรรมที่ถูกต้อง  หมายถึง  การสนทนาให้เกิดความเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม   ให้รู้สภาพธรรมที่เป็นกุศลธรรม  อกุศลธรรมและอัพยากตธรรม (ไม่ดีไม่ชั่ว)  รู้เท่าทันสภาพธรรมที่เกิดดับ  ไม่หลงผิดยึดถือสิ่งที่เกิดชั่วขณะแล้วดับไป ว่าเป็นวัตถุสิ่งของ  ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา

ความยากในการสนทนาธรรม

๑.  คู่สนทนาต้องมีความสามารถในถ่ายทอดความรู้  ตามที่ตนเข้าใจอย่างถูกต้องได้ด้วย  โดยยึดหลักในมงคลที่ ๑๐  มีวาจาดี  มีความสุภาพเป็นบรรทัดฐาน

๒.  คู่สนทนาต้อฟังธรรมะเป็น  คือ  ฟังด้วยความพิจารณา  รู้จักไตร่ตรองตามธรรม  หยิบยกเอาประโยชน์จากการฟังนั้นมาสนทนา  ซึ่งยากกว่าการพูดธรรมให้ผู้อื่นฟังหลายเท่า  เพราะเหตุว่า

              ๒.๑  ยากที่จะควบคุมใจให้อยากฟังธรรม

              ๒.๒  ยากที่จะยอมรับธธรมที่ได้ยินนั้นเข้าสู่ใจ

๓.  คู่สนทนาต้องสนทนาธรรมะเป็น  คือ  ต้องฟังเป็นด้วย  และพูดด้วยในเวลาเดียวกัน


ข้อควรปฏิบัติในการสนทนาธรรม

๑.  ต้องชำระศีลให้บริสุทธิ์ก่อน

๒.  ต้องหมั่นเจริญสมาธิภาวนาเป็นประจำ

๓.  แต่งกายสุภาพ

๔.  วาจาสุภาพ

๕.  กิริยาสุภาพ

๖. ไม่กล่าวค้านพุทธพจน์

๗. ไม่พูดวาจาที่ทำให้เกิดความแตกร้าว

๘.   ไม่แสดงอาการโกรธเมื่อถูกขัดแย้ง

๙.  ไม่ปรารถนาลากมก

๑๐.  ตั้งจิตไว้ว่าจะสนทนาธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา

๑๑.  ไม่พูดออกนอกเรื่องที่ตั้งประเด็นไว้

๑๒.  ไม่พูดนานไปจนน่าเบื่อ  รู้จักกาลเทศะ


วิธีสนทนาธรรม

๑.  สนทนาด้วยธรรม  คือ  เรื่องที่จะสนทนากัน  ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรม  ให้อยู่ในวงธรรม  อย่าออกนอกวง

๒.  สนทนาด้วยธรรม  คือ  ผู้ที่สนทนากันจะต้องไม่แสดงกิริยาวาจาให้ผิดธรรมะ

๓.  สนทนาเพื่อธรรม  คือ ผู้สนทนาต้องตั้งจุดมุ่งหมายไว้ในใจให้แน่นอนว่า  เราจะหาความรู้ความเข้าใจในธรรมะให้ยิ่ง ๆ  ขึ้นไป


วิธีเลือกคู่สนทนาธรรม

๑.  คู่สนทนาต้องมีอัธยาศัยใฝ่ธรรมและสงบเสงี่ยมเยี่ยงสมณะ

๒.  เรื่องที่จะสนทนาต้องเหมาะสมกับบุคคลนั้น ๆ


การสนทนาธรรมในครอบครัว

ในปัจจุบันนี้  ตามบ้านคนโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะมีห้องพระไว้สำหรับไหวพระสวดมนต์  แต่โอกาสที่จะได้สวดมนต์ร่วมกันในครอบครัวนั้นคงไม่ค่อยอำนวยนัก  เพราะเหตุว่า  พ่อแม่ต่างก็มีภาระกิจยุ่งวุ่นวายอยู่กับเรื่องการทำงานหาเลี้ยงครอบครัว  ส่วนลูก ๆ  ก็เรียนหนังสือ  ค่ำมาก็ทำกิจส่วนตัว  จึงไม่มีเวลาที่จะได้สนทนาธรรมกัน  เมื่อหาเวลาเหมาะ ๆ  ไม่ได้    ก็ควรใช้เวลาตอนรับประทานอาหารร่วมกัน  ตอนเช้า
หรือตอนเย็นแล้วแต่จะสะดวกมื้อไหน  พ่อแม่ควรที่จะพูดเกี่ยวกับธรรมเบื้องต้นให้ลูกฟังบ่อย ๆ  จนลูกเกิดความศรัทธาในพระธรรม  ใฝ่ที่รู้มากขึ้น   ๆ  ควรพูดในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำ   จะใช้วิธีฟังธรรมะจากเทปหรือซีดีธรรมะก็ได้   เมื่อเด็กเข้าใจมากขึ้นก็มีการอบรมเจริญสมาธิร่วมกันกามกาลบ้าง
มีการสวดมนต์ร่วมกันในวันหยุดบ้าง   เมื่อเด็กได้รับการฝึกฝนอบรมขัดเกลาจิตอย่างต่อเนื่อง  เด็กจะมีอุปนิสัยดีขึ้น จะว่านอนสอนง่าย  มีระเบียบวินัยดี  มีความรับผิดชอบดี  จะรู้จักละอายเกรงกลัวต่อบาป  จะมีกิริยามารยาทดีขึ้น  ครอบครัวจะมีความร่มเย็นเป็นสุข  มีความเจริญก้าวหน้าในกิจการงาน  เพราะเหตุว่า  มีจิตใจที่สงบสุข  มีสติปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมต่าง ๆ  เพราะฉะนั้น  การสนทนาในครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง


อานิสงส์ของการสนทนาธรรมตามกาล

๑.  ทำให้จิตเป็นกุศล

๒.  ทำให้มีไหวพริบปฏิภาณดี

๓.  ทำให้มีสติปัญญาเแลี่ยวฉลาด

๔.  ทำให้ได้ยินได้ฟังธรรมที่ตนยังไม่ได้ฟัง

๕.  ธรรมที่ฟังแล้ว  ยังไม่เข้าใจชัด  ย่อมเข้าใจชัดขึ้น

๖.  ทำให้บรรเทาควมสงสัยเสียได้

๗.  เป็นการทำความเห็นของตนให้ตรง

๘.  เป็นการฝึกฝนอบรมจิตใจให้บริสุทธิ์

๙.  เป็นการรักษาประเพณีอันดีงามของพระอริยเจ้า

๑๐.  ชื่อว่าได้ดำเนินตามปฏิปทา  อันเป็นวงศ์ของนักปราชญ์



ฯลฯ



..................................





วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๒๙ การได้เห็นสมณะ


                                   สมณะคือ               ผู้ละ                  จากบาป    
                                  ไม่จ้วงจาบ             หยาบละโมบ    โลภมาก
                                  มีความสง่่า             สงบ                   ที่พบได้ยาก   
                                  หมั่นเพียรพาก       ขจัด                  กิเลสตัญหา
                                  การเห็น                   สมณะ               เป็นบุญยิ่ง    
                                  อย่ามัวนิ่ง               เฉยเมย             ไม่นำพา
                                  ตรึกในธรรม           ที่ท่าน                บรรยายมา   
                                  แล้วศึกษา              นำมา                 ขัดเกลาตน


สมณะ  คือ  ใคร ?

สมณะ  แปลว่า  ผู้สงบ  หมายถึง  บรรพชิตที่ได้บำเพ็ญสมณธรรม  อบรมฝึกฝนตนเองด้วยศีล  สมาธิ ปัญญา มาแล้วอย่างเต็มที่  จนกระทั้งมีกาย วาจา และใจ  สงบจากอกุศล  สมณะทุกรูปจึงต้องเป็นบรรพชิต  แต่บรรพชิตบางรูปอาจไม่ได้เป็นสมณะก็ได้  เพราะเหตุว่า  ไม่ปฏิบัติกิจวัตรของสมณะอย่างถูกต้อง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  คนที่เราตถาคตเรียกว่า  สมณะ นั้น  จะต้องเป็นผู้ระงับจากการทำบาปน้อยใหญ่เสีย


ลักษณะของสมณะ  มีดังนี้

๑.  สมณะต้องสงบกาย  คือ มีความสำรวม ไม่คะนอง มีกิริยางดงาม 

๒.  สมณะต้องสงบวาจา  คือ  ไม่เป็นคนปากร้าย  ไม่นินทาว่าร้ายผู้อื่น  ไม่ยุยงใส่ร้ายป้ายสีให้เข้าใจผิด 

๓.  สมณะต้องสงบใจ  คือ  ทำใจให้สงบเป็นสุขอยู่ภายใน  สงบจากบาปกรรม  ตรึกนึกถึงธรรมเป็นอารมณ์    จิตใจของสมณะที่แท้ย่อมเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา  ไม่เป็นพิษภัยต่อใคร

การที่มีความสงบกาย  วาจา  ใจ ทั้ง ๓ ประการนี้  ส่งผลให้สมณะมีความสง่างามอยู่ในตัว


ลักษณะของสมณะในเชิงปฏิบัติ

๑.  สมณะต้องไม่ทำอันตรายใคร  ไม่ว่าทางกายหรือทางวาจา  ไม่ทำความเดือดร้อนให้ผู้ใด  ไม่คิดร้ายผู้อื่น

๒.  สมณะต้องไม่เห็นแก่ลาภ  ดำรงชีพอยู่เพียงเพื่อทำความเพียร  มีความสันโดษ 

๓.  สมณะต้องบำเพ็ญสมณธรรม  พยายามฝึกฝนตนเอง  ไม่เกียจคร้าน  ขยันบำเพ็ญกิจวัตรของสมณะ

๔.  สมณะต้องบำเพ็ญตบะ  คือ  ทำความเพียรเพื่อกำจัดกิเลส


ชนิดของการเห็นสมณะ  แบ่งออกเป็น  ๓  ระดับ

๑.  เห็นด้วยตา  เรียกว่า พบเห็น  คือ  เห็นถึงรูปร่าง ลักษณะกิริยามารยาทอันสง่างามและสงบของท่าน

๒.  เห็นด้วยใจ  เรียกว่า  คิดเห็น  คือ นอกจากจะเห็นตัวท่านซึ่งเป็นสมณะบุคคลแล้ว  ยังพิจาณาตรองดูด้วยใจ  จนสามารถคาดคะเนได้ถึงคุณธรรมภายใน   ที่ทำให้ท่านสงบเสงี่ยม  แต่สง่างามอย่างน่าอัศจรรย์  หรือเรียกว่า  เห็นถึงสมณธรรมของท่าน

๓.  เห็นด้วยญาณ  เรียกว่า  รู้เห็น  คือ  เห็นด้วยญาณทัศนะ  เห็นด้วยปัญญาทางธรรม  ว่าท่านมีคุณธรรมมากเพียงใด  เป็นการเห็นของผู้ที่ปฏบัติธรรมมาดีแล้ว  จนเข้าถึงธรรมภายในตัว 


กิจที่ควรทำเพื่อให้เกิดประโยชน์จากการเห็นสมณะ

๑.  ต้องเข้าไปหา  หมายถึง  หมั่นเข้าใกล้และเห็นคุณค่าในการเห็นสมณะ  พยายามเข้าไปหาท่านเสมอเพื่อรับการถ่ายทอดคุณธรรม

๒.  ต้องเข้าไปบำรุง  หมายถึง  เข้าไปช่วยทำกิจของท่าน  เช่น ปัดกวาดเชิดถูกุฏิ จัดหาปัจจัย ๔ ไปถวาย

๓.  ตามฟัง  หมายถึง  ตั้งใจฟังคำสั่งสอนของท่านด้วยความตั้งใจจดจ่อ  และด้วยความเคารพ  

๔.  ตามระลึกถึงท่าน  หมายถึง  เมื่อได้พบและฟังคำสอนของท่านแล้ว  ก็ตามระลึกถึงคำสอน  ทั้งกิริยามารยาทของท่าน  นำคำสั่งสอนของท่านมาไตร่ตรองพิจารณาอยู่่เสมอ

๕.  ตามดูตามเห็น  หมายถึง  ดูท่านด้วยตาเนื้อของเรา  ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างหนึ่ง และตามดูท่านด้วยความคิดและปัญญาทางธรรม  ให้เห็นตัวสมณธรรมของท่านอีกอย่างหนึ่ง  


ขอควรปฏิบัติเมื่อพบสมณะ

๑.  ถ้าไทยธรรมมีอยู่  พึงต้อนรับด้วยไทยธรรมนั้นตามสมควร

๒.  ถ้าไทยธรรมไม่มี  พึงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์

๓.  ถ้าไม่สะดวกในการกราบก็ประณมมือไหว้

๔.  ถ้าไหว้ไม่สะดวกก็ยืนตรง หรือแสดงความเคารพด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง  เช่น หลีกทางให้

๕.  อย่างน้อยที่สุด  ต้องแลดูด้วยจิตเลื่อมใส


อานิสงส์ของการเห็นสมณะ

๑.  ทำให้ได้สติ  ฉุกคิดถึงบุญกุศล

๒.  ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดีตามท่าน

๓.  ทำให้ตาแจ่มใสดุจแก้วมณี

๔.  ทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท

๕.  ชื่อว่าได้บูชาพระรัตนตรัยอย่างยิ่ง

๖.  ทำให้ได้สมบัติ ๓  คือ มนุษยสมบัติ  ทิพยสมบัติและนิพพานสมบัติ  โดยง่าย

๗.  ทำให้บรรลุมรรคผลโดยง่าย


...............................












มงคลที่ ๒๘ เป็นผู้ว่าง่าย



                                    ผู้ว่าง่าย               มีใจ             ไม่เพ่งโทษ  
                                    ไม่ถือโกรธ          อาฆาต         พยาบาท
                                    รับฟัง                   ตักเตือน       ด้วยความฉลาด   
                                    ทั้งมุ่งมาด           อาจหาญ      แลเบิกบาน
                                    คนโง่ว่ายาก       ปากไว          ใจบอด   
                                    ชอบค่อนขอด     ยอกย้อน     ให้เสียการ
                                    ประพฤติชั่ว        ทำตัว            เป็นคนพาล   
                                    มีสันดาน             หยาบช้า      น่าประณาม



คนว่าง่าย  หมายความ  อย่างไร ?

คนว่าง่าย  หมายถึง   ผู้ที่มีความอดทนต่อคำตักเตือนสั่งสอนของผู้อื่นได้  เมื่อมีผู้รู้กล่าวตักเตือนโดยชอบธรรม  ยินดีรับฟังแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติด้วยความเคารพอ่อนน้อมด้วย  ไม่คัดค้าน ไม่โต้เถียง ไม่กลบเกลื่อน ไม่แก้ตัว ด้วยประการใด ๆ  ทั้งสิ้น


  

ผู้ว่าง่ายมีลักษณะที่ควรสังเกต  ดังนี้

๑.  ไม่พูดกลบเกลื่อน  เมื่อได้รับการว่ากล่าวตักเตือน  คือ  รับฟังด้วยดี ไม่แก้ตัว  อ้างโน่นอ้างนี่

๒.  ไมนิ่งเฉย  เมื่อได้รับการตักเตือน  พยายามปรับปรุงแก้ไขปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น

๓.  ไม่มีจิตเพ่งคุณเพ่งโทษผู้ว่ากล่าวสั่งสอน  คือ ไม่คอยจับผิดท่าน  แต่รับฟังโอวาทด้วยดี


๔.  เอื้อเฟื้อต่อคำสอนและเอื้อเฟื้อต่อผู้สอนเป็นอย่างดียิ่ง  คือ ยอมทำตามคำสอนนั้นและเชื่อฟังผู้สอนอย่างดี  ทำให้ผู้สอนมีเมตตาเกิดกำลังใจที่จะสอนต่อ  ๆ  ไปอีก


๕.  เคารพต่อคำสอนและต่อผู้สอนเป็นอย่างดียิ่ง  ตระหนักดีว่าผู้ที่เตือนคนอื่นนั้น  นับว่าเป็นเสี่ยงต่อการถูกโกรธมาก  ดังนั้นการที่มีผู้ว่ากล่าวตักเตือนเรา  แสดงว่าเขาจะต้องมีคุณธรรม มีความเสียสละ มีความเมตตาปรารถนาดีต่อเราาจริง ๆ  


๖.  มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอย่างดียิ่ง  ไม่แสดงความกระด้างกระเดื่องโอหัง  คิดว่าตัวเองดีอยู่แล้วเก่งอยู่แล้ว


๗.  มีความยินดีปรีดาต่อคำสอนนั้น  ถึงกับเปล่งคำว่า  สาธุ สาธุ สาธุ  รับฟังโอวาทนั้น  คือ ดีใจอย่างยิ่งว่า  ท่านกรุณาชี้ข้อบกพร่องของเราให้เห็น  จะได้รีบแก้ไข  เหมือนท่านชี้ขุมทรัพย์ให้  จึงเปล่งวาจาขอบคุณไม่ขาดปาก


๘.  ไม่ดื้อรั้น  คือ ไม่ดันทุรังทำไปอำเภอใจทั้ง ๆ  ที่รู้ว่าผิด  แต่ทำไปตามความถูกต้อง  เมื่อผิดก็ยอมแก้ไขปฏิบัติไปตามสมควรแก่ธรรม


๙.  ไม่ยินดีในการขัดคอ  ไม่พูดสวนขึ้นทันที  มีความประพฤติชอบเป็นที่พอใจ  เป็นที่ปรารถนา


๑๐.  มีปกติรับโอวาทเอาไว้ดีเยี่ยม ตั้งใจฟังทุกแง่ทุกมุมไม่โต้ตอบ  ยิ่งไปกว่านั้นยังปวารณาตสนไว้อีกว่า  ให้ว่ากล่าวสั่งสอนได้ทุกเมื่อ  เห็นข้อบกพร่องของตนเมื่อใดก็ให้ตักเตือนได้ทันที


๑๑.  เป็นผู้อดทน  แม้จะถูกกล่าวสั่งสอนอย่างหยาบคายหรือดุด่าอย่างไรก้ไม่โกรธ  อดทนได้เสมอ  เพราะนึกถึงพระคุณของท่านเป็นอารมณ์



ลักษณะของผู้ว่าง่ายโดยสรุปย่อได้  ๓  ประการ  ดังนี้


๑.  รับฟังคำสอนด้วยดี  ไม่กลบเกลื่อน ไม่แก้ตัว  ไม่เถียง ไม่ขัดคอ ไม่โต้กลับ  ไม่จ้องจับผิดท่าน


๒.  รับทำตามคำสั่งสอนด้วยดี  ไม่ดื้อรั้นดันทุรัง  ไม่รีรอ  ไม่อิดออด  กระบิดกระบวน


๓.  รับรู้คุณผู้สอนอย่างดี  ไม่โกรธ  ไม่คิดลบหลู่คุณท่าน  อดทนได้แม้ถูกว่่ากล่าวโดยหยาบคาย  ไม่ว่าผู้สอนนั้นจะ

                      -  เป็นผู้ใหญ่กว่า  ซึ่งเราทำใจยอมรับได้ง่าย

                      -  เป็นผู้เสมอกัน  ซึ่งเราทำใจยอมรับได้ยากขึ้น


                      -  เป็นผู้น้อยกว่า  ซึ่งเราทำใจยอมรับได้ยากที่สุด



ประเภทของคนว่าง่าย


ผู้ว่าแบ่งตามสาเหตุได้เป็น ๓  ประเภท  ดังนี้


๑.  ว่าง่ายเพราะเห็นแก่ได้  คือ  คนที่เห็นแก่อามิสรางวัล  จึงว่าง่าย  เช่น  ลูกเชื่อฟังพ่อแม่เพราะอย่ากได้สิ่งที่ตนปรารถนา   ลูกน้องเชื่อฟังนายเพราะอยากได้รางวัล  พวกนี้จัดเป็น  คนหัวประจบ


๒.  ว่าง่ายเพราะขาดความเชื่อมั่นในตนเอง  คือ ไม่มีความคิดเป็นของตนเอง  ใครบอกให้ทำอะไรก็ทำ  ชวนไปไหนก็ไป  ชักชวนทำอะไรก็ทำโดยไม่คิดไตร่ตรองใด  ๆ  คนว่าง่ายเช่นนี้จัดว่าเป็น  คนโง่


๓.  ว่าง่ายเพราะเห็นแก่ความดี  คือ  คนที่ยึดถือธรรมะเป็นใหญ่  เห็นแก่ธรรมจึงว่าง่าย  ต้องการปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น  เมื่อมีผู้อื่นกล่าวตักเตือนชี้ข้อบกพร่องให้  จึงพร้อมรับฟังด้วยดี  ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้ใหญ่กว่าหรือเด็กกว่าก็ตาม  จัดเป็นพวก  คนว่าง่ายที่แท้จริง



เหตุแห่งความเป็นคนว่ายาก  มี ๑๖  ประการ  ดังนี้


๑.  มีความปรารถนาลามก  เช่น  อยากรวยจึงไปค้าสิ่งผิดกฏหมาย อยากได้ยศตำแหน่งสูง ๆ  จึงทับถมเพื่อนร่วมงาน  ใครตักเตือนก็ไม่ฟัง


๒.  ชอบยกตนข่มท่าน  หลงตัวเองว่าวิเศษกว่าคนอื่น  คิดว่าตนเองเก่ง  ใครก็สู้ตนไม่ได้


๓.  มีนิสัยมักโกรธ  พอมีใครเตือนใครสอนอะไรก็โกรธทันที  พอเตือนครั้งสองครั้งก็มีอาการโต้ตอบขึ้นมาทันที  แล้วก็หน้าหงิกงอ  คนพวกนี้เป็น  คนว่ายาก


๔.  มีนิสัยผูกโกรธ  คือ  ไม่ใช่โกรธธรรมดา  แต่ใครทำให้โกรธหน่อยก็เก็บ  ผูกติดเอาไว้ในใจเป็นปี ๆ  คนพวกนี้ยิ้มไม่ค่อยเป็น  คนพวกนี้เป็นพวก  ไม่ยอมรับฟัง


๕.  มีความรังเกียจเหยียดหยามเพราะฤทธิ์โกรธ  คือ  ไม่ใช่แค่หน้าบึ้งเฉย ๆ  แต่พอโกรธ  ใครเตือนทำให้ไม่พอใจ  แล้วก็แสดงอาการรังเกียจเหยียดหยามทันที 


๖.  คิดต่อว่าต่อขาน  คือ  พอมีใครมาตักเตือนเข้าแล้ว  ก็เกิดอาการคันปากยิบ ๆ  ขอให้โต้ตอบคำแล้วจึงจะสมใจ 


๗.  คิดโต้แย้ง  คือ  เมื่อมีผู้แนะนำตักเตือนให้เห็นข้อบกพร่องของตนแล้ว  ก็รีบโต้แย้งแก้ตัวทันที  


๘.  คิดตะเพิด  คือ  ไม่สงบปากสงบคำรับเอาคำแนะนำจากผู้หวังดี  แต่กลับพูดจาระรานเขา


๙.  คิดย้อน  คือ  นอกจากไม่ฟังแล้วยังพูดย้อนให้เขาเจ็บใจ


๑๐.  คิดกลบเกลื่อน  คือ  พอมีใครพุดถึงข้อบกพร่องของตน  ก็พูดกลบเกลื้อน  เฉไฉออกไปเรื่องอื่น


๑๑.  คิดนอกเรื่อง  คือ  เมื่อมีคนตักเตือนแล้ว  กลับมองเจตนาเขาไปอีกแง่หนึ่ง  ว่าเขาเตือนเพื่อผลประโยชน์ กลายเป็นคนมองคนในแง่ร้าย  จึงไม่ยอมรับฟัง


๑๒.  คิดปิดบังซ่อนเงื่อน  คือ  เมื่อไปทำอะไรผิดมา  แล้วไม่ยอมเปิดเผย  จึงกลายเป็นคนมีชนักติดหลัง  ใครพูดอะไรนิดหน่อยก็หวาดสะดุ้ง  เกรงเขาจะรู้ความผิดของตัว จึงมีใจขุ่นอยู่เสมอ  ไม่เป็นที่ตั้งใจฟังอะไรได้  กลายเป็นคนว่ายาก


๑๓.  คิดลบหลู่ตีเสมอ  คือ  เป็นคนไม่มีความกตัญญู  ใครทำความดีไว้กับตน  ก็พยายามลบหลู่ตีเสมอเหยียบย่ำเขาลงไป  เพราะเกรงจะเสียเกียรติจะติดหนี้บุญคุณเขา


๑๔.  คิดริษยาเห็นแก่ตัวจัด  คือ  เป็นคนใจแคบ  ใครมาแนะนำอะไรก็รับไม่ได้  เกรงว่าเขาจะเหนือกว่าตน


๑๕.  มีนิสัยโอ้อวด  ไปไหน ๆ  ก็คุยอวดว่าตัวดี  ตัวเก่ง  เมื่อสำคัญตนเช่นนั้น  จึงไม่ยอมรับฟังคำตักเตือนของผู้อื่น


๑๖.  เป็นคนกระด้างมีมานะจัด  เป็นคนชนิดคอกระด้าง  คางแข็ง  มีทิฏฐิ  ใครแนะนำตักเตือนอะไรก็รับได้ยาก  จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านขึ้นทันที  คอแข็งเชิดหน้า  ใจปิดไม่ยอมรับฟัง



อานิสงส์ของการเป็นคนว่าง่าย


๑.  ทำให้เป็นที่เมตตาอยากแนะนำพร่ำสอนของคนทั้งหลาย


๒.  ทำให้ได้รับโอวาท  อนุสาสนิ


๓.  ทำให้ได้ธรรมะอันเป็นที่พึ่งแก่ตน


๔.  ทำให้ละโทษทั้งปวงได้


๕.  ทำให้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงได้โดยง่าย




..............................


























วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๒๗ มีความอดทน


                               ควรอดทน              ต่อสิ่ง              มากระทบ   
                               ไม่สู้รบ                    ตอบโต้           โอ้อวดตน   
                               ไม่โกรธตอบ          ผู้ใด                ให้หมองมน    
                               เกิดเป็นคน             ทั้งที                ดีให้ได้     
                               ใจหนักแน่น           ดุจดั่ง              ปฐพี       
                               ไม่ยินดี                   ยินร้าย            ใครทำไว้
                               ฝึกสติ                     คุ้มครอง         ป้องกันภัย    
                               ไม่ยากไร้               อับจน              เพราะทนเป็น


ความอดทน  หมายถึง  อะไร ?

ความอดทน (ขันติ)  หมายถึง  การรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้   ไม่ว่าจะถูกกระทบกระทั่งด้วยสิ่งอันเป็นที่พึงปรารถนาหรือไม่เป็นที่พึงปรารถนาก็ตาม  มีความมั่นคงหนักแน่นเหมือนกับแผ่นดิน  ซึ่งไม่่มีความรู้สึกหวั่นไหวต่อสิ่งใด ๆ  ที่มากระทบ  เช่น  เมื่อมีใครเทของสกปรก  ของเสียหรือของหอม  แผ่นดินก็ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ  โต้ตอบ

ความอดทน (ขันติ)  เป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่ง  เพราะเป็นคุณธรรมนำมาซึ่งความสำเร็จกิจทั้งปวง ทั้งทางโลกและทางธรรม  ขันติเป็นคุณธรรมที่ขจัดอุปสรรคต่าง ๆ   เป็นเครื่องท้าทายความสามารถ  เป็นเครื่องขจัดความท้อถอย  ความเบื่อหน่าย  หดหู่  ขี้เกียจ  เพราะฉะนั้น  ขันติจึงเป็นคุณธรรมที่ทุกท่านควรอบรมเจริญให้มีพละกำลังยิ่ง ๆ  ขึ้น  เพื่อความเจริญก้าวหน้าและเพื่อความสำเร็จในชีวิต


ลักษณะความอดทนที่ถูกต้อง  มี ๔ ประการ  ดังนี้

๑.  มีความอดกลั้น  คือ  เมื่อถูกคนพาล  ก็ให้กระทำราวกับว่าไม่ได้ยิน  ไม่ใส่ใจในเสียงนั้น  ใส่ใจในสิ่งที่ทำให้ตนสบายใจ  สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง  เช่น  ฝึกอบรมเจริญศีล  เจริญสติ  เจริญสมาธิและปัญญา  ให้มีกำลังยิ่ง ๆ  ขึ้นไป

๒.  เป็นผู้ไม่ดุร้าย  คือ  เป็นผู้สามารถข่มความโกรธไว้ได้  อดทนที่จะไม่โกรธตอบ  อดทนที่จะไม่ผูกโกรธ  อาฆาตพยาบาท  จองเวร  ไม่ทำร้ายตอบ

             ท้าวสักกะเทวราชได้ตรัสเตือนใจว่า


  
  "ผู้ใดโกรธตอบผู้ที่โกรธก่อนแล้ว

ผู้นั้นกลับเป็นคนเลวกว่าผู้ที่โกรธก่อน

ผู้ที่ไม่โกรธต่อบุคคลผู้กำลังโกรธอยู่

ย่อมชื่อว่า  เป็นผู้ชนะสงครามอันชนะได้ยากยิ่ง"

๓.  ไม่ปลูกน้ำตาให้แก่ใคร  คือ  ไม่ก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น  ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือเจ็บแค้นใจจนน้ำตาไหล  ด้วยอำนาจความเกรี้ยวกราดของตน

๔.  มีใจเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์  คือ  มีปีติอิ่มเอิบใจเสมอ  ไม่มีความพยาบาท ไม่โทษใครทั้งนั้น  พยายามอดทนทำงานทุกอย่างด้วยใจเบิกบานเสมอ

ลักษณะความอดทนนั้น  มีคำโบราณท่านกล่าวไว้ว่า

    "ปิดหูซ้ายขวา  ปิดตาสองข้าง
                                                    
                                                   ปิดปากเสียงบ้าง  นอนนั่งสบาย"



ประเภทของความอดทน  แบ่งตามเหตุที่มากระทบได้เป็น ๔  ประเภท  ดังนี้

๑.  อดทนต่อความลำบากตรากตรำ  เป็นการอดทนต่อสภาพธรรมชาติ  ดินฟ้าอากาศ  ความหนาว  ความร้อน  ฝนตก  แดดออก  ก็อดทนทำงานจนสำเร็จ  ไม่ด่าว่าหรือโทษผู้อื่น 

๒.  อดทนต่อทุกขเวทนา  เป็นการอดทนต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย  ความไม่สบายกาย  ความเจ็บปวด  หรือปวดเมื่อย  ผู้ไม่มีความอดทนต่ออาการเจ็บปวดทางกาย  ทางใจก็จะป่วยไปด้วย  ในที่สุดก็กลายเป็นป่วยหนักเป็นทวีคูณ  ทำให้รักษายากขึ้นได้

๓.  อดทนต่อความเจ็บใจ  เป็นการอดทนต่อความโกรธ  ขัดเคือง  ความไม่พอใจ  ความไม่สบายใจ  อันเกิดมาจากคำพูดของผู้อื่น  กิริยามารยาทที่ไม่งาม  การบีบคั้นจากผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน  ความอยุติธรรมต่าง ๆ ในสังคม  ระบบงานต่าง ๆ  ที่ไม่คล่องตัว  

๔.  อดทนต่ออำนาจกิเลส  เป็นการอดทนต่ออารมณ์อันน่าใคร่  น่าเพลิดเพลิด  น่าหลงใหล  อดทนต่อการกระทำที่ไม่สมควรทำ  เช่น  อดทนต่อการไม่เที่ยวเตร่  ไม่เสพสิ่งเสพย์ติด  ไม่เล่นการพนัน  ไม่คอร์รัปชั่น  ไม่ผิดศีล  ไม่คดโกง  ไม่ขี้โอ่  ไม่ขี้อวด  ไม่รับสินบน เป็นต้น

                       
วิธีฝึกตนให้มีความอดทน  มีดังนี้

๑.  ต้องคำนึงถึงหิริโอตตัปปะให้มาก  เมื่อมีความละอายเกรงกลัวต่อบาปอย่างเต็มที่  ความอดทนย่อมเกิดขึ้นได้  

๒.  ต้องรู้จักเชิดอารมณ์ที่มากระทบนั้นให้สูงขึ้น  คือ  นึกเสียว่า  ที่เขาทำแก่เราอย่างนั้นก็ดีแล้ว  เขาด่าก็นึกเสียว่าดีกว่าเขาดีกับเรา  เขาดีก็นึกเสียว่าดีกว่าเขาฆ่า  

๓.  ต้องฝึกสมาธิมาก ๆ  เพราะเหตุว่า ขันติและสมาธิเป็นคุณธรรมที่เกื้อหนุนกัน  ขันติจะหนักแน่นก็จะต้องมีสมาธิรับรอง  สมาธิจะก้าวหน้าก็ต้องมีขันติเป็นพื้นฐาน  ขันติอุปมาเหมือนมือซ้าย  สมาธิอุปมาเหมือนมือขวา  จะล้างมือ  มือทั้งสองข้างจะต้องช่วยกันล้าง  จึงจะสะอาดดี


อานิสงส์การมีความอดทน

๑.  ทำให้กุศลธรรมทุกชนิดเจริญขึ้นได้

๒.  ทำให้เป็นคนมีเสน่ห์  เป็นที่รักของคนทั้งหลาย

๓.  ทำให้ตัดรากเหง้าแห่งความชั่วทั้งหลายได้

๔.  ทำให้อยู่เย็นเป็นสุขทุกอิริยาบถ

๕.  ชื่อว่าได้เครื่องประดับอันประเสริฐของนักปราชญ์

๖.  ทำให้ศีลและสมาธิตั้งมั่น

๗.  ทำให้ได้พรหมวิหารโดยง่าย

๘.  ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย


.........................................








                                             


วันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๒๖ ฟังธรรมตามกาล



                                การฟังธรรม             ตามกาล            เป็นสิ่งดี    
                                ธรรมไม่มี                  เกิดมี                 หายสงสัย
                                ความหม่นหมอง      ข้องใจ               แลอาลัย   
                                สมุทัย                        ควรรู้                  เหตุแห่งทุกข์
                                การฟังธรรม             คือการ               สะสมทุน     
                                เพื่อเป็นบุญ              ส่งผล                 ให้ตนสุข
                                มีธรรม                      ประจำใจ            ดุจประมุข      
                                ไม่ล้มรุก                   คลุกคลาน          รำคาญใจ
                                อีกชาติหน้า             เกิดมา                มีปัญญา    
                                เพียรศึกษา              อบรม                  บ่มนิสัย
                                ฝึกตน                      ให้เป็นคน            มีวินัย    
                                เป็นปัจจัย                ให้ได้                   มรรคผลเอย


การฟังธรรมตามกาล  หมายถึง  อะไร ?


การฟังธรรมตามกาล  หมายถึง  การขวนขวายหาเวลาไปฟังธรรม  ฟังคำสั่งสอนจากผู้มีธรรมะ  เพื่อยกระดับจิตใจและสติปัญญาให้สูงขึ้น  โดยเมื่อฟังธรรมแล้ว  ก็น้อมนำเอาคุณธรรมเหล่านั้น มาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  นำมาปรับปรุงการดำเนินชีวิตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กาลที่ควรฟัง

๑.  วันธรรมสวนะ  คือ  วันพระนั่นเอง  เฉลี่ยประมาณ ๗ วัน/ครั้ง  เพราะเหตุว่าในวันพระเป็นวันที่คนส่วนใหญ่จะไปบำเพ็ญบุญกุศลที่วัด  และพระท่านก็จะมีการแสดงธรรม  จึงเป็นโอกาสที่ผู้ไปทำบุญจะได้ฟังธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.  เมื่อจิตถูกวิตกครอบงำ  คือ  เมื่อใดก็ตามที่มีความคิดอกุศลเกิดกับจิต  ทำให้จิตขุ่นมัว  เศร้าหมอง ฟุ้งซ่าน  รำคาญใจ  ก็อยากจะไปฟังพระธรรม  เพื่อให้จิตมีความสบายสงบเยือกเย็นขึ้น

                 ความคิดที่ทำให้จิตเศร้าหมอง  แบ่งได้ ๓ ประเภท  ดังนี้
               
                 ๒.๑  เมื่อกามวิตกกำเริบ  คือ  เมื่อจิตฟุ้งซ่านด้วยเรื่องเพศ  เรื่องรูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัสทางกาย  ความอาลัยอาวรณ์  ห่วงหา  ติดข้อง  ต้องการ  พอใจในสิ่งอันเป็นที่รักที่ปรารถนา

                 ๒.๒  เมื่อพยาบาทวิตกกำเริบ คือ  เมื่อจิตถูกความโกรธเข้าครอบงำ  เกิดความรู้สึกอยากล้างผลาญ  ทำลายผู้อื่น  ไม่ว่าจะเป็นการคิดเผาผลาญทรัพย์  ผลาญชีวิตหรือผลาญเกียรติยศ ศักดิ์ศรีก็ตาม
จิตย่อมเศร้าหมองได้

                 ๒.๓  เมื่อวิหิงสาวิตกกำเริบ  คือ  เมื่อใดที่จิตเกิดความคิดอยากจะเบียดเบียนผู้อื่น  คิดเอาเปรียบผู้อื่น  คิดกลั่นแกล้ง  รังแกผู้อื่น  เมื่อนั้นจิตเศร้าหมองย่อมเกิดขึ้นแก่ตนได้

๓.  เมื่อมีผู้รู้แสดงธรรม  คือ เมื่อมีผู้มีความรู้  มีความสามารถและมีธรรมมาแสดง  ให้รีบไปฟัง  เพราะเหตุว่าผู้รู้ธรรมและสามารถแสดงธรรมให้ผู้อื่นเข้าใจได้ถูกต้องนั้น  หาได้ยากมากในโลก  ต้องรอจนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกก่อน  แล้วต้องตั้งใจศึกษาธรรมของพระองค์จนประจักษ์แจ้ง  จึงจะมีความสามารถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นฟังและเข้าใจได้   ดังนั้น  เมื่อมีโอกาสเช่นนี้ก็ควรที่จะเร่งรีบไปฟังธรรมจากท่าน


อุปนิสัยจากการฟังธรรม

                   อุปนิสัย  หมายถึง  ความประพฤติ  ความเคยชินที่ได้สะสมมาและติดตัวมา  และก็จะติดตัวไปในภายหน้าด้วย

การฟังธรรม  เป็นการสะสมความรู้ความเข้าใจ  เป็นปัญญาขั้นฟัง  เป็นพื้นฐานที่จะปรุงแต่งจิตให้เข้าใจมากขึ้น ๆ   การฟังธรรมบ่อย ๆ  จะเป็นอุปนิสับสืบต่อไปในชาติหน้าด้วย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  ผู้ที่หมั่นฟังธรรม   แล้วพยายามศึกษาทำความเข้าใจ  ถึงฟังไม่เข้าใจก็พยายามจำ  จะได้รับอานิสงส์  ๔  ประการ  คือ

                     ๑.  เมื่อละจากโลกนี้ไป  ย่อมเกิดในเทวโลก  มีปัญญารู้ธรรมได้เร็ว  สามารถระลึกได้ด้วยตนเอง  และปฏิบัติตามธรรมนั้น  บรรลุธรรมได้เร็ว

                     ๒.  เมื่อละจากโลกนี้ไป  ย่อมเกิดในเทวโลก  แม้มีภิกษุผู้มีฤทธิ์ขึ้นไปแสดงธรรม  ก็จะระลึกถึงธรรมได้และบรรลุมรรคผลได้เร็ว

                     ๓.  เมื่อละจากโลกนี้ไป  ย่อมเกิดในเทวโลก  แม้ไม่มีภิกษุผู้มีฤทธิ์ขึ้นไปแสดงธรรม  แต่เมื่อได้ฟังเทพบุตรแสดงธรรมให้ฟัง  ก็จะระลึกถึงธรรมได้  และบรรลุธรรมได้เร็ว

                     ๔.  เมื่อละจากโลกนี้ไป  ย่อมเกิดในเทวโลก  แม้ไม่มีภิกษุผู้มีฤทธิ์หรือเทพแสดงธรรม  แต่เมื่อได้ยินคำตักเตือนจากเพื่อนเทพบุตรด้วยกัน  ก็สามารถระลึกธรรมได้  และบรรุลมรรคผลได้


อานิสงส์การฟังธรรมตามกาล

๑.  เป็นการเพิ่มพูนความรู้ใหม่  เพราะการฟังธรรม  ทำให้เราได้ยินได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟังมาก่อน

๒.  เป็นการทบทวนความรู้เดิม  การได้ฟังธรรมซ้ำ ๆ  กันบ่อย ๆ  ซึ่งเราเคยฟังมาแล้ว  ทำให้ได้ทบทวนความรู้เดิม และได้พิจารณาไตร่ตรอง  จนเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น  สามารถจดจำได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

๓.  เป็นการปลดเปลื้องความลังเลสงสัย  เมื่อผู้ฟังยังมีความลังเลสงสัยในเรื่องบำเพ็ญกุศลและอกุศล  เมื่อได้ฟังธรรมเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว  ความลังเลสงสัยก็จะหมดไปได้

๔.  เป็นการปรับความเห็นให้ตรง   การดำเนินชีวิตให้ถึงจุดมุ่งหมายนั้น  จะต้องประสบกับอุปสรรคอย่างมากมาย  หรือเรียกอีกอย่างว่า  ถูกมารคอยขัดขวางมากมาย   "มาร"  คือ กิเลสของตนนั่นเอง  เช่น  ความเห็นผิด  เป็นเหตุให้มีการประพฤติปฏิบัติตนไปในทางที่ผิด  ๆ  ทำให้ชีวิตไม่ประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย  เมื่อได้ฟังธรรม  แล้วน้อมนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง  ย่อมประสบความสำเร็จได้  

๕.  เป็นการฝึกอบรมจิตใจให้สูงขึ้น  การฟังธรรมเป็นเครื่องเตือนสติ   ทำให้เลิกจากความคิดฟุ้งซ่านในเรื่องกาม  ความคิดพยาบาทอาฆาต  ความคิดเบียดเบียนผู้อื่น และสอดส่องชี้ทางให้เราเห็นถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องในตัว  ซึ่งจะต้องปรับปรุงแก้ไข  ยกระดับจิตให้สูงขึ้น ๆ  จนกระทั่งสามารถขจัดข้อบกพร่องได้เด็ดขาด  จนสามาถบรรลุมรรคผลได้ในที่สุด




.........................................

มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู


                                   คนจะดี             ต้องมี            กตัญญู    
                                   ใครเลี้ยงดู       ให้ที่อยู่          ที่กิน
                                   ควรระลึก         นึกอยู่            เป็นอาจินต์  
                                   ไม่ดูหมิ่น          ลบหลู่            ด้วยรู้คุณ
                                   กตัญญู            ทำให้             ใจเป็นสุข   
                                   ไม่มีทุกข์          ด้วยบุญ        ช่วยค้ำจุน
                                   สติ                    ปัญญาดี        ช่วยเกื้อหนุน    
                                  ทั้งเป็นทุน         พาสุข            ทุกชาติเอย



ความกตัญญู  คือ  อะไร ? 

ความกตัญญู  คือ  ความรู้คุณ   หมายถึง  ความเป็นผู้มีจิตใจกระจ่าง  มีสติปัญญาบริบูรณ์  รู้จักตอบแทนคุณผู้ที่ให้ความอุปการะแก่เรา  ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม  เช่น  เลี้ยงดู  สั่งสอน  ตักเตือน  ให้ที่อยู่ที่พัก  ให้งานทำ ฯลฯ   ควรรำลึกถึงพระคุณที่ผู้นั้น  เคยช่วยเหลือเกื้อกูลตน  ด้วยความเคารพยิ่ง แต่มิใช่เมื่อตอบแทนบุญคุณแล้วก็หายกัน  ไม่มีการระลึกถึงกันอีกเลย  ควรระลึกถึงด้วยความซาบซึ้งอยู่เสมอและไม่ลืมอุปการคุณนั้นเลย


สิ่งที่ควรกตัญญู  
สิ่งที่ควรแก่ความกตัญญู  คือ ทุกสิ่งที่มีบุญคุณแก่เรา  ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น ๕  ประการ  ดังนี้

๑.  กตัญญูต่อบุคคล  ใครก็ตามที่มีบุญคุณต่อเรา  ควรระลึกถึงและหาโอกาสตอบแทนพระคุณท่าน  เช่น  บิดามาดา  ครูอาจารย์  ญาติผู้ใหญ่  ฯลฯ

๒.  กตัญญูต่อสัตว์  สัตว์เลี้ยงที่ช่วยทำงานให้เรา  นับว่าสัตว์นั้นมีบุญคุณ  เราจึงควรเลี้ยงดูให้ดี  เช่น  ช้าง  ม้า  วัว  ควาย  สุนัข  แมว เป็นต้น

๓.  กตัญญูต่อสิ่งของ  ได้แก่สิ่งของทุกอย่างที่มีคุณมีประโยชน์แก่เรา  เช่น  หนังสือธรรมะ  หนังสือเรียนต่าง ๆ อุปกรณ์ทำมาหากินต่าง ๆ  เราควรเก็บรักษาให้ดี  ไม่ควรทิ้งขว้าง  ควรเก็บไว้ในที่ที่สมควร

๔.  กตัญญูต่อบุญ  เมื่อรู้ตามความจริงว่า  คนเราเกิดมาด้วยผลของบุญในอดีตชาติที่ได้กระทำไว้แล้ว  
ผลของกุศลกรรม  ทำให้มีรูปร่าง  หน้าตา  ผิวพรรณ  ร่างกายแข็งแรงดี  มีทรัพย์สมบัติมากมาย  มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต   เพราะฉะนั้น  ควรระลึกถึงคุณค่าของบุญด้วยการหมั่นเพียรบำเพ็ญบุญกุศลให้เพิ่มยิ่ง ๆ  ขึ้น  ไม่ประมาทในการสั่งสมบุญต่าง ๆ   มีความอ่อนน้อมในตัว  ไม่ดูถูกบุญทุกประเภท  บุญเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ  เมื่อระลึกถึงบุญกุศลที่ได้ทำแล้ว  ก็เกิดความชุ่มชื่นใจ  เกิดปีติ  

๕.  กตัญญูต่อตนเอง  ควรระลึกถึงคุณของร่างกายของตน  ร่างกายเป็นอุปกรณ์สำคัญยิ่ง  เราใช้ร่างกายนี้สร้างความดี  สร้างบุญกุศลประเภทต่าง ๆ  เพื่อความสุขความเจริญในชีวิต  เพราะฉะนั้น  จึงไม่ควรที่จะทำลายร่างกายด้วยการดื่มเหล้า  เสพย์สิ่งมึนเมาเป็นพิษ  เที่ยวเตร่ดึกดื่นในสถานที่ไม่สมควร  ไม่ควรประพฤติผิดศีล  ไม่ควรใช้ชีวิตอย่างประมาท  


อานิสงส์ของการมีความกตัญญู 

๑.  ทำให้รักษาคุณความดีเดิมไว้ได้

๒.  ทำให้สร้างคุณความดีใหม่เพิ่มได้อีก

๓.  ทำให้เกิดสติ ไม่ประมาท

๔.  ทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ

๕.  ทำให้เกิดขันติ

๖.  ทำให้จิตผ่องใส  มองโลกในแง่ดี

๗.  ทำให้เป็นที่สรรเสริญของคนดี

๘.  ทำให้มีคนอยากคบหาสมาคม

๙.  ทำให้ทั้งมนุษย์และเทวดาอยากช่วยเหลือ

๑๐. ทำให้ไม่มีเวรไม่มีภัย

๑๑. ทำให้ลาภผลทั้งหลายเกิดขึ้นโดยง่าย

๑๒. ทำให้บรรลุมรรคผลโดยง่าย


.....................................










วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๒๒ มีความเคารพ


                                        คนเคารพ         นบนอบ        ผู้อื่นได้      
                                        ย่อมไม่ไร้         ความรัก       แลเอ็นดู
                                        จะทำกิจ           การใด          ก็เฟื่องฟู       
                                        ทั้งเชิดชู           ชื่อเสียง       วงศ์ตระกูล
                                        การน้อมนำ      พระธรรม     คำสั่งสอน   
                                        ใช่ขอพร           กิเลส            มาพอกพูน
                                        ประมาท           ขาดสติ         มิเกื้อกูล   
                                        จะอาดูร            โศกเศร้า      เผากายใจ


ความเคารพ  หมายถึง  อะไร ?

ความเคารพ  หมาย  ถึง  ความตระหนัก ซาบซึ้ง ในคุณความดีของบุคคลอื่น  ยอมรับนับถือความดีของเขาด้วยใจจริง  แสดงความนับถือต่อบุคคลนั้นด้วยความอ่อนน้อม  อ่อนโยน อย่างเหมาะสม  ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

สิ่งที่ควรเคารพอย่างยิ่ง  มี  ๗  ประการ  ดังนี้

๑.  ความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๒.  มีความเคารพในพระธรรม

๓.  มีความเคารพในพระสงฆ์

๔.  มีความเคารพในการศึกษา

๕.  มีความเคารพในสมาธิ

๖.  มีความเคารพในความไม่ประมาท

๗.  มีความเคารพในการต้อนรับแขก

๑.  ความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  หมายถึง  การตระหนักถึงพระปัญญาคุณ  พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาที่คุณ  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพโดย

๑.  ไปนมัสการพระเจดีย์ตามโอกาส

๒.  ไปนมัสการสังเวชนียสถาน  คือ สถานที่ประสูติ  ตรัสรู้  ปฐมเทศนา ปรินิพพาน ตามโอกาส

๓.  เคารพพระพุทธรูป

๔.  เคารพเขตพุทธวาส  คือ เขตโบสถ์

๕.  ไม่สวมรองเท้าในลานพระเจดีย์

๖.  ไม่กางร่มในลานพระเจดีย์

๗.  เมื่อเดินใกล้พระเจดีย์  ไม่เดินไปพูดไป

๘.  เมื่อเข้าในเขตอุโบสถ  ก็ถอดรองเท้า  หุบร่ม  ไม่ทำอาการต่าง ๆ ซึ่งแสดงถึงความกระด้าง หยาบคาย

๙.  ปฏิบัติตนตามพุทธโอวาทอยู่เป็นนิตย์

๒.  ความเคารพในพระธรรม  หมายถึง  การตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ  ดังนี้

๑.  เมื่อมีประการแสดงธรรมก็ไปฟัง

๒.  ฟังธรรมด้วยความสงบ สำรวม ตั้งใจ

๓.  ไม่นั่งหลับ  ไม่นั่งคุยกัน  ไม่คิดฟุ้งซ่าน  ขณะฟังธรรม

๔.  ไม่วางหนังสือธรรมะไว้ในที่ต่ำ

๕.  ไม่ดูหมิ่นพระธรรม

๖.  บอกธรรม  สอนธรรม ด้วยความระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาด


๓.  ความเคารพในพระสงฆ์  คือ  การตระหนักถึงคุณความดีของพระสงฆ์  ผู้ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  เป็นผู้สืบพระพุทธศาสนา  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ  ดังนี้

๑.  การกราบไหว้ด้วยกิริยาอาการเรียบร้อย

๒.  นั่งเรียบร้อย  ไม่นั่งกอดเข่าเจ่าจุก

๓.  ไม่สวมรองเท้า ไม่กางร่มในที่ประชุมสงฆ์

๔.  ไม่คะนองมือคะนองเท้าต่อหน้าท่าน

๕.  เมื่อพระเถระไม่เชิญ  ไม่แสดงธรรม

๖.  เมื่อพระเถระไม่เชิญ  ไม่อวดรู้แก้ปัญหาธรรม

๗.  ไม่เดิน  ยืน  นั่ง  เบียดพระเถระ

๘.  แลดูท่านด้วยจิตเลื่อมใส

๙.  ต้อนรับท่านด้วยไทยธรรม

๔.  ความเคารพในการศึกษา  หมายถึง  การตระหนักถึงคุณค่าของการศึกษาหาความรู้  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ โดยตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่  ทั้งทางโลกและทางธรรม  จะศึกษาเรื่องใดก็ศึกษาให้รู้ถึงแก่น  ให้เข้าใจแจ่มแจ้งกระจ่างจริง ๆ  มีการบำรุงการศึกษา  ให้การสนับสนุนการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมด้วย

๕.  ความเคารพในสมาธิ  หมายถึง  การตระหนักถึงคุณประโยชน์อันมหาศาลของการอบรมเจริญสมาธิ  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพ  โดยการตั้งใจฝึกอบรมเจริญสมาธิอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง  เพราะเหตุว่าสมาธิเป็นการฝึกจิตให้มีความสงบจากกิเลสทั้งปวง  เมื่อสมาธิตั้งมั่นจิตจะสามารถพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสิ่งกำลังปรากฏขณะนี้ได้  นอกจากนั้น การรักษาศีลก็จะเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิได้ง่าย  เพราะเหตุว่า  ศีลเป็นธรรมเครื่องป้องกันความประพฤติอกุศลทางกายและวาจา  ดังนั้น สมาธิจึงเป็นหัวใจหลักในการกระทำความดีทุกประเภท

๖.  ความเคารพในความไม่ประมาท  หมายถึง  การตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการมีสติระลึกรู้สภาพธรรมต่าง ๆ  ในชีวิตประจำวัน  เช่น  ระลึกรู้ตัวในการทำงานต่าง  ๆ  แล้วแสดงออกซึ่งความเคารพโดยหมั่นฝึกอบรมเจริญสติเนื่อง  ๆ  จนกระทั่งสติสามารถเกิดระลึกรู้สภาพธรรมได้บ่อยขึ้น

๗.  ความเคารพในการต้อนรับแขก  หมายถึง  การตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการต้อนรับแขก  ว่าทำให้ไม่ก่อศัตรู  ปกติคนเราจะให้ดีพร้อม ทำอะไรถูกใจผู้อื่นทุกอย่างย่อมเป็นไปไม่ได้  อาจมีข้อบกพร่องบ้างเป็นธรรมดา  การต้อนรับแขกเป็นการสร้างมิตรไมตรีกับผู้อื่น  เพราะฉะนั้น  จึงควรให้ความเคารพในการต้อนรับแขก  ซึ่งมีหลักปฏิบัติ  ๒  ประการ  ดังนี้

                 ๑.  อามิสปฏิสันถาร   คือ  การต้อนรับด้วยสิงของ  เช่น  อาหาร น้ำดื่ม  เลี้ยงดูอย่างดีและเป็นกันเอง

                 ๒.  ธรรมปฏิสันถาร    คือ  การต้อนรับด้วยธรรม  เช่น  การสนทนาธรรม  แนะนำธรรมให้แก่กัน  

การแสดงความเคารพ

การแสดงความเคารพ  คือ  การแสดงความตระหนักในคุณความดีของสิ่งที่เราเคารพด้วยใจจริง  ให้ปรากฏชัดแก่บุคคลทั่วไป  ด้วยการแสดงออกทางกาย  วาจา  มีอยู่หลายวิธี  เช่น การหลีกทางให้  ลุกขึ้นยืนต้อนรับ  การให้ที่นั่งแก่ท่าน  การประนมมือเวลาพูดกับท่าน  การกราบ  การไหว้  การขออนุญาตก่อนทำกิจต่าง ๆ  การวันทยาหัตถ์  การยิงสลุต  การลดธง  เหล่านี้เป็นการแสดงความเคารพทั้งสิ้น

การแสดงความเคารพที่ถูกต้องตามหลักธรรม  หมายถึง  การแสดงออกเพราะว่าตระหนักในคุณความดีของสิ่งที่เคารพด้วยใจจริง  


ข้อเตือนใจ

ความเคารพ  คือ  การตระหนักในความดีของผู้อื่นและสิ่งอื่น  ผู้ที่จะตระหนักในความดีของผู้อื่นและสิ่งอื่นได้นั้น  จะต้องเป็นผู้มีปัญญาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  จึงจะสามารถตระหนักได้  ว่าสิ่งใดสมควรและสิ่งใดไม่สมควร

บางคนไม่อยากแสดงความเคารพคนอื่น  ถึงแม้ว่าคนนั้นจะมีบุญคุณต่อตนก็ตาม  ทำเมินเฉย  มักจะเป็นเพราะว่า  มีความเข้าใจผิด ว่าการแสดงกิริยาเคารพผู้อื่นนั้น  เป็นการลดศักดิ์ศรีของตน  เกรงว่าตนเองจะด้อยไป  เมื่อผู้อื่นเห็น  นั่นคือ  เป็นผู้มีความเห็นผิดอย่างยิ่ง  เป็นผู้ไม่มีปัญญาก็ว่าได้


อานิสงค์การมีความเคารพ

๑.  ทำให้เป็นคนน่ารัก  น่าเอ็นดู  น่าเกรงใจ

๒.  ทำให้ได้รับความสุขกาย  สบายใจ

๓.  ทำให้ไม่มีความเดือดร้อน  ไม่มีเวร  ไม่มีภัย

๔.  ทำให้สามารถรับการถ่ายทอดความดีจากผู้อื่นได้ง่าย

๕.  ทำให้ผู้อื่นอย่างช่วยเหลือ เพิ่มเติมความดีให้

๖.   ทำให้สติดีขึ้น  เป็นผู้ไม่ประมาท

๗.  ทำให้เป็นคนมีปัญญาละเอียดอ่อน  รู้จริง  และทำได้จริง

๘.  ทำให้เกิดในตระกูลสูงไปทุกภพทุกชาติ

๙.  ทำให้บรรลุมรรคผลได้โดยง่าย



.............................................