Welcome

ยินดีต้อนรับทุกท่าน

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๓๘ มีจิตเกษม



                                      
                                       ชีวิตนี้                 มีภัย            อย่างมากมาย
                                       มีความตาย       รอเรา           อยู่เบื้องหน้า                            
                                       อีกความแก่       ความเจ็บ    ติดตามล่า    
                                       รู้เถิดว่า              นั้นหนา        คือภัยใน
                                       ส่วนภัยนอก       ย่ำยี่             หนีไม่พ้น   
                                       ทุกข์เหลือล้น     ทนสู้             อยู่ร่ำไป
                                      ทุกข์จากภัย       คนชั่ว           มั่วความใคร่   
                                       ทุกข์ยิ่งใหญ่     ไฟไหม้         แผ่นดินไหว
                                       ทุกข์จากกรรม  ตามติด        ดุจดั่งเงา   
                                       เพราะงี่เง่า        โง่เขลา         เอาแต่ใจ
                                       อยากพ้นภัย     จงดับ            สมุทัย       
                                       จิตผ่องใส         สุขเกษม        เปรมปรีเอย


ภัยของมนุษย์

ภัยของมนุษย์แบ่งออกได้เป็น  ๒  ประเภท  ดังนี้

๑.  ภัยภายใน  พอเกิดมาเราก็มีภัยประเภทนี้มาคอยรุมล้อมรอบตัวอยู่ตลอดเวลา

      ข้างหลัง        คือ  ชาติภัย         ภัยจากการเกิด
      
      ข้างขวา         คือ  ชราภัย         ภัยจากความแก่

      ข้างซ้าย        คือ   พยาธิภัย      ภัยจากความเจ็บ

      ข้างหน้า        คือ   มรณภัย       ภัยจากความตาย


๒.  ภัยภายนอก  มีอยู่นับไม่ถ้วน  เช่น

      -  ภัยจากคน  เช่น  ผัวร้าย  เมียเลว  ลูกชั่ว  เพื่อนที่ไม่ดี  คนพาล  คนเกเร  นับไม่ถ้วน

      -  ภัยจากธรรมชาติ  เช่น  น้ำท่วม  แผ่นดินไหว  ภูเขาไฟระเบิด  ฟ้าผ่า

      -  ภัยจากบาปกรรมตามทัน  ถูกล้างผลาญทุกรูปแบบ  เคยเบียดเบียนสัตว์ก็ทำให้ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย
พิการ  เคยโกหกไว้มากก็ทำให้ความจำเลอะเลือน  ไปลักขโมยโกงเขา  เขาจับได้ถูกขังคุกลงโทษ  ก็สารพัด ฯลฯ


ทำไมเราจึงต้องพบกับภัยเหล่านี้ ?
ที่เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ไม่รู้กี่ภพกี่ชาตินับไม่ถ้วน  ก็เพราะว่าถูกผูกด้วย  โยคะ  แปลว่า  เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ  มีอยู่  ๔  ประการ  ได้แก่

๑.  กามโยคะ  คือ  ความยินดีพอใจในกามคุณ  อันได้แก่อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ
เช่น  อยากได้เห็นสิ่งสวย ๆ  อยากได้ยินเสียงที่ไพเราะ  อยากได้กลิ่นหอม ๆ  อยากได้ลิ้มรสอร่อย ๆ   อยาก  อยากสัมผัสสิ่งที่อ่อนนุ่ม  อยากร่ำรวยมีเงินทองมาก  ๆ  ความติดข้องต้องการในอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้  เป็นเสมือนเชือกเกลียวแรกที่ผูกมัดตัวเราไว้

๒.  ภวโยคะ  คือ  ความยินดีพอใจในรูปฌานและอรูปฌาน  คนที่พ้นจากเกลียวแรกมาได้  ก็ต้องมาเจอกับเกลียวที่ ๒  นี้  คือเมื่อได้พบกับความสุขจากการที่จิตเริ่มสงบ  ทำสมาธิจนกระทั่งได้รูปฌานหรืออรูปฌาน  ก็พอใจยินดีอยู่ในความสุขจากอารมณ์ของฌาน  พอตายจากโลกนี้ก็ไปเกิดเป็นรูปพรหมหรืออรูปพรหมในพรหมโลก  ซึ่งก็ยังต้องกลับมาสู่โลกนี้อีกเมื่อหมดบุญแล้ว  นี่ก็ยังไม่พ้นภัย  ก็เป็นเสมือนเชือกเกลียวที่ ๒

๓.  ทิฏฐิโยคะ  คือ  ความยึดถือความคิดเห็นผิด ๆ ของตนเอง  เช่น  เห็นว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อตนบ้าง  เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มีจริงบ้าง  เห็นว่าตนเองจะพ้นทุกข์ด้วยการบวงสรวงอ้อนวอนบ้าง  ใจยังมืดอยู่ยังไปหลงยึดความเห็นผิด ๆ  อยู่  สิ่งนี้เลยเป็นเสมือนเชือกเกลียวที่ ๓

๔.  อวิชชาโยคะ  คือ  ความไม่รู้แจ้งในพระสัทธรรม  ความสว่างของใจยังไม่พอ  ยังไม่เห็นอริยสัจ ๔  ไม่เห็นทางพ้นทุกข์พ้นภัย  นี่ก็เป็นเชือกเกลียวที่  ๔


จิตเกษม  คือ  อะไร ?

เกษม  แปลว่า  ปลอดภัย พ้นภัย  สิ้นกิเลส มีความสุข

จิตเกษม  หมายถึง  สภาพจิตที่หมดกิเลสแล้ว  โยคะเครื่องผูกสัตว์ไว้ในโลก เชือกทั้ง ๔ เกลียว ได้ถูกฟันขาดสะบั้นโดยสิ้นเชิง  จิตเป็นอิสระ เสรี ทำให้คล่องตัวไม่ติดขัด  ไม่อึดอัดอีกต่อไป  ไม่มีภัยใด  ๆ มาบีบคั้นได้อีก จึงมีความสุขอย่างแท้จริง  พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  ผู้ที่จะมีจิตเกษมได้อย่างแท้จริง  คือ ผู้ที่มีใจจรดนิ่งแช่อิ่มอยู่ในนิพพานตลอดเวลา  ซึ่งก็ได้แก่พระอรหันต์นั่นเอง

จิตพระอรหันต์นั้น  นอกจากจะหมดกิเลสแล้ว ยังทำให้มีความรู้ความสามารถพิเศษอีกหลายประการ  เช่น


อภิญญา ๖

อภิญญา ๖  คือ  ความรู้อันยิ่งยวด  เหนือความรู้จากการตรองด้วยหลักเหตุผลธรรมดา  ได้แก่

๑.  อิทธิวิธี  แสดงฤทธิ์ได้  เช่น  เหาะเหินเดินอากาศ  แปลงกายเป็นสิ่งต่าง ๆ  ย่อหรือขยายตัวได้  หายตัวได้  ฯลฯ

๒.  ทิพย์โสต  มีหูทิพย์

๓.  เจโตปริยญาณ  รู้วาระจิตคนอื่น  รู้ว่าเขากำลังคิดอะไร

๔.  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  ระลึกชาติได้

๕.  จุตูปปาตญาณ (ทิพยจักษุ)  มีตาทิพยื

๖.  อาสวัคขยญาณ  ทำกิเลสให้สินไปได้

ในอภิญญา ๖ นี้ ข้อแรกเป็นโลกียอภิญญา  ข้อที่ ๖  เป็นโลกุตตร - อภิญญา  คุณวิเศษเหล่านี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง  ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงด้วยการบอกเล่าหรือสั่งสอนกัน  ผู้ปฏิบัติธรรมถึงขั้นนั้น ๆ  แล้วจึงจะประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง

พระอรหันต์บางรูปได้คุณสมบัติหมดกิเลสได้วิชชา ๓  แต่ไม่ได้อภิญญา ๖  เนื่่องจากแม้จะฝึกตนเองข้ามภพข้ามชาติมาแล้วพอสมควร  แต่ไม่ได้ทำอย่างอุกฤษฏ์  คือไม่ได้ทำถึงขั้นสูงสุด  จึงเพียงแต่หมดกิเลส อย่างไรก็ตามพระอรหันต์ทุกรูปจะต้องได้วิชชา ๓


วิชชา ๓

วิชชา ๓  คือ  ความรู้แจ้ง  ความรู้พิเศษอันลึกซึ้งปัญญา  ได้แก่  ญาณ  คือ  ความหยั่งรู้เป็นความรู้พิเศษ เป็นปัญญาอันเกิดจากการทำสมาธิ  ภาวะที่เรียกว่า  ภาวปัญญาซึ่งเป็นปัญญาขั้นสูงสุด  จะเข้าถึงธรรมบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้  ต้องเข้าถึงด้วยภาวนายมปัญญานี้เท่านั้น  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสละชีวิตปฏิบัติธรรมจนได้ภาวนายมปัญญา บรรลุวิชชา ๓ นี้  ในวันตรัสรู้ธรรมวิชชา ๓ มีดังนี้  ซึ่งเกิดจากการทำสมาธิสุดยอดเข้าถึงธรรมกาย  คือ

๑.  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  คือ  ระลึกชาติตัวเองได้

๒.  จุตูปปาตญาณ  คือ  ตาทิพย์ ระลึกชาติคนอื่นได้

๓.  อาสวัคขยญาณ  คือ  ความรู้ที่ทำให้หมดกิเลส


วิชชา  ๘

วิชชา ๘  คือ  ความรู้แจ้ง หรือความรู้วิเศษ ๘ อย่าง  คือ

๑.  วิปัสสนาญาณ  ปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขาร  โดยไตรลักษณ์

๒.  มโนมยิทธิ  ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ ฤทธิ์ทางใจ

๓.  อิทธิวิธี  แสดงฤทธิ์ได้  เช่น  เหาะเหินเดินอากาศ  แปลงกายเป็น  สิ่งต่าง ๆ  ย่อหรือขยายตัวได้  หายตัวได้  ฯลฯ

๔.  ทิพยโสต  มีหูทิพย์

๕.  เจโตปริยญาณ  รู้วาระจิตผู้อื่น  รู้ว่าเขากำลังคิดอะไร

๖.  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  ระลึกชาติได้

๗.  ทิพยจักษุ  มีตาทิพย์

๘.  อาสวักขยญาณ  ความรู้ที่ทำกิเลสให้สินไปได้


ปฏิสัมภิทาญาณ ๔

ปฏิสัมภิทาญาณ ๔  คือ  ความสามารถพิเศษในการสั่งสอนคนอื่น  ได้แก่

๑.  อัตถปฏิสัมภิทา  ปัญญาแตกฉานในอรรถ  เห็นข้อธรรมใดก็สามารถอธิบายขยายความออกไปได้โดยพิสดาร

๒.  ธัมมปฏิสัมภิทา  ปัญญาแตกฉานธรรม  สามารสรุปข้อความได้อย่างกระซับ  เก็บความสำคัญได้หมด

๓.  นิรุตติปฏิสัมภิทา  ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ  คือ แตกฉานเรื่อง ภาษาทุกภาษา  ทั้งภาษาของมนุษย์และสัตว์  สามารถเข้าใจได้

๔.  ปฏิภาณปฏิสัมภิทา  ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ  มีไหวพริบปฏิภาณดี  สามารถอธิบายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ดี  ตอบคำถามได้แจ่มแจ้ง

การปฏิบัติธรรมมีอานิสงส์มากมายถึงปานนี้  เราทุกคนจึงควรตั้งใจฝึกฝนตนเองตามมงคลต่าง ๆ  ดังกล่าวมาแล้วข้างตน  ทำอย่างเอาจริงเอาจัง  ไม่ช้าเราก็จะเป็นผู้รู้จริงทำได้จริงผู้หนึ่ง  มีติตเกษมปลอพภัยจากภัยต่าง ๆ  และมีความรู้พิเศษสุดยอด  ตามเยี่ยงอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้




เกิดมาว่าจะมาหาแก้ว


พบแล้วไม่กำ  จะเกิดมาทำอะไร

อ้ายอยากมันก็หลอก  อ้ายหยอกมันก็ลวง

ทำให้จิตเป็นห่วงเป็นใย

เลิกอยากลาหยอก  รีบออกจากกาม

เดินตามขันธ์สามเรื่อยไป

เสร็จกิจสิบหก  ไม่ตกกันดาร  เรียกว่านิพพานก็ได้


คติธรรมของพระมงคลมนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ)



..........................................









วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๓๗ จิตปราศจากธุลี


                               จิตมี                    ธุลีกิเลส                ห่อหุ้ม          
                                แตกแยกกลุ่ม   รากเง่า                 ออกเป็นสาม
                               โลภะ                  เพื่อนสนิท           คอยติดตาม       
                               โทสะราม          ร้อนรุ่ม                  ดุจไฟสุ่ม
                               โมหะ                 ความหลงผิด       ปิดมืดมิด    
                               ให้เห็นผิด         คิดผิด                   จิตกลัดกลุ้ม
                               เมื่อธุลี               ไม่มี                       มาครอบคลุม    
                               ทุกซอกมุม        สดใส                     ไร้ราคี
                          


จิตปราศจากธุลี  คือ  อะไร ?

ธุลี  แปลว่า  ผุ่นละอองที่ละเอียดมาก  ในที่นี้หมายถึง  กิเลสอย่างละเอียดที่เกาะซึมแทรกหุ้มใจของเราอย่างซ่อนเร้นบาง ๆ  ทำให้ความผิดผ่อง  ความใสสะอาดเสียไป  ถ้าไม่สังเกตุจะไม่เห็นไม่รู้

จิตปราศจากธุลี  หมายถึง  จิตที่หมดกิเลสแล้วทั้งหยาบทั้งละเอียด  อย่างถอนรากถอนโคน  ไม่่มีทางฟืนกลับเข้ามาในใจได้อีก   ทำให้จิตสะอาดผ่องใส  นุ่มนวลควรแก่การงาน  ได้แก่จิตของพระอรหันต์


ประเภทของกิเลส

กิเลสหรือเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต  แบ่งเป็น  ๓  ประเภทใหญ่ ๆ   คือ   ราคะหรือโลภะ  โทสะ  โมหะ
กิเลสแต่ละประเภทมีหลายระดับ  ตั้งแต่หยาบมาก ๆ  จนถึงอย่างละเอียดมาก  ๆ  เหมือนกับธุลีหรือฝุ่นผง
ซึ่งถ้าไม่เคยศึกษาเรื่องลักษณะของกิเลสมาก่อน  ก็จะไม่สามารถรู้ได้เลย  ว่าตนยังมีกิเลสอยูมากมาย

๑.  ราคะหรือโลภะ  คือ  ความติดข้อง  ยินดี  พอใจ  ความใคร่  ความต้องการ  ปรารถนา  อย่ากได้  ความกำหนัด ในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมู ลิ้น กายและใจ  ซึ่งแบ่งอารมณ์ได้ตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด  ดังนี้

              ๑.๑  อภิชฌาวิสมโลภะ  ความโลภอย่างรุนแรง  จนกระทั่งแสดงออกมา  เช่น  ปล้นจี้  ลักขโมย

              ๑.๒  อภิชฌา  ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของ ๆ  ผู้อื่น  เพียงคิดอยากได้  แต่ยังไม่แสดงออก

              ๑.๓  โลภะ  ความยินดี  พอใจ  ติดข้อ  ต้องการ  อยากได้

              ๑.๔  กามราคะ  ความพอใจในกาม   ความรักเพศตรงข้าม  ยังมีความต้องการทางเพศ  มีความยินดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผสทางกาย  ธรรมารมณ์

               ๑.๕  รูปราคะ  ความยินดีในอารมณ์ของรูปฌาน  เป็นเรื่องของผู้ได้ฌานจิตขั้นรูปฌาน

               ๑.๖  อรูปราคะ  ความยินดีติดข้องพอใจในอารมณ์ของอรูปฌาน  เป็นเรื่องของผู้ได้ฌานจิตขั้นอรูปฌาน

               ข้อ ๑.๔ - ๑.๖  จัดเป็นกิเลสอย่างละเอียด  เรียกว่า  ธุลีประเภท  ราคะ


๒.  โทสะ  คือ  ความไม่ชอบใจ  ขุ่นเคืองใจ  ไม่สบายใจ  หดหู่  ความคิดร้าย  คิดทำลายผู้ที่ทำให้ตนโกรธ  มีตั้งแต่หยาบถึงละเอียด  ดังนี้

                ๒.๑  พยาบาท  ความผูกอาฆาต  จองเวร  อยากแก้แค้น ไม่ยอมอภัย  บางทีข้ามภพชาติก็ยังไม่ยอม  เช่น  พระเทวทัตผูกพยาบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่ภพในอดีตมา

                ๒.๒  โทสะ  ความคิดร้าย  คิดทำลาย  เช่น  คิดจะฆ่า  คิดจะเตะ  คิดจะด่า  เพียงแค่คิดแต่ยังไม่ลงมือกระทำ

                ๒.๓  โกธะ  ความเดือดดาลใจ  คือ  คิดโกรธแต่ยังไม่ถึงกับคิดทำร้ายใคร

                ๒.๔  ปฏิฆะ  ความขัดใจ  เป็นความไม่พอใจลึก ๆ  ยังไม่ถึงกับโกรธ  แต่มันขัดใจ

                ข้อ ๒.๔  จัดเป็นธุลี  เป็นกิเลสอย่างละเอียดในประเภทโทสะ


๓.   โมหะ  คือ  ความหลง  เป็นอาการที่จิดมืดมน  ไม่รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง  ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี  ไม่รู้จักกุศลอกุศล  กิเลสประเภทโมหะมีตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด  ดังนี้

                 ๓.๑  มิจฉาทิฏฐิ  ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม  เช่น  เห็นว่า พอแม่ไม่มีพระคุณ  เห็นว่าบุญบาปไม่มี  เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มี  เป็นต้น

                 ๓.๒  โมหะ  ความหลงผิด  ความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี

                 ๓.๓  สักกายทิฏฐิ  ความเห็นว่าเป็นตัวตน  เช่น  คิดว่าร่างกายนี้เป็นของเราจริง  

                 ๓.๔  วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม  เช่น  ยังไม่มั่นใจร้อยเปร์เซนต์  ว่าบุญบาปมีจริงไหม  ทำสมาธิแล้วจะหมดกิเลสจริงหรือ  สงสัยในพระธรรม

                  ๓.๕  สีลัพพตปรามาส  ความติดอยู่ในศีลพรตอย่างงมงาย  เช่น  เชื่อในมงคลตื่นข่าว  เชื่อหมอดู  เชื่อเรื่องเจ้าเข้าทรง  เชื่อศาลพระภูมิ  

                  ๓.๖  มานะ  ความสำคัญตน  ความถือตน  ถือเขาถือเรา

                  ๓.๗  อุทธัจจะ  ความฟุ้งซ่าน  เป็นอาการที่จิตไหวกระเพื่อมน้อย ๆ  ยังไม่หยุดนิ่งสนิทบริบูรณ์  ไม่ได้หมาายถึงความฟุ้งซ่าน  ไม่รู้ตัวอย่างที่คนทั่ว ๆ  ไปเป็นกัน

                  ๓.๘  อวิชชา  ความไม่รู้สัทธรรม  เช่น  ไม่รู้ว่าตัวเรามาจากไหน  เกิดมาทำไม  ตายแล้วจะไปไหน

                  ตั้งแต่ข้อ  ๓.๓ -๓.๘  จัดเป็นธุลี  เป็นกิเลสอย่างละเอียดในประเภทโมหะ 


โดยสรุป  ธุลี  หมายถึง  กิเลสอย่างละเอียดทั้ง ๓  ประเภท  รวม ๑๐ ประการ  ดังนี้

๑.  สักกายทิฏฐิ

๒.  วิจิกิจฉา

๓.  สีลัพพตปรามาส

๔.  กามราคะ

๕.  ปฏิฆะ

๖.  รูปราคะ

๗.  อรูปราคะ

๘.  มานะ

๙.  อุทธัจจะ

๑๐.  อสิชชา

กิเลส ๑๐  ประการนี้  รวมเรียกว่า  สังโยชน์ ๑๐ 
      
-   พระโสดาบันสามารถละ สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  และสีลัพพตปรามาสได้  มีความเชื่อมั่นในคุณของพระรัตนตรัยอย่างเต็มที่  ไม่มีความลังเลสังสัยเลย

-  พระสกิทาคามีละได้  ๓  ข้อแรก  เช่นเดียวกับพระโสดาบัน  

-  พระอนาคามีละได้เพิ่มอีก ๒  ข้อ  คือ  กามราคะและปฏิฆะ

-  พระอรหันต์เท่านั้น  ที่ละสังโยชน์ธุลีกิเลสได้ทั้งหมด ๑๐ ข้อ  ละได้สิ้นเชิง  มีจิตผ่องใสบริสุทธิ์ตลอด


ระดับโทษของกิเลส  ๓  ประเภท

ราคะ  มีโทษน้อย  แต่คลายช้า  อยู่กันฉันสามีภรรยา  ถือว่าไม่ผิดศีลธรรม ขออย่านอกใจไปมีชู้  โทษของราคะไม่ค่อยหนักมาก  แต่การจะเลิกนั้นยากมาก  คลายช้า  

โทสะ  มีโทษมาก  แต่คลายเร็ว  เวลาโกรธขัดใจมาก  ๆ  ถึงกับฆ่ากันได้  บางคนถึงขนาดฆ่าพ่อแม่ของตนได้  ทำอนันตริยกรรมก็ยังได้  มีโทษมาก แต่ทว่าคลายเร็ว  ถ้าเขามาขอโทษขอโพย  เอาอกเอาใจไม่นานก็หาย   โทสะคลายเร็วอย่างนี้

โมหะ  มีโทษมาก    คลายช้าด้วย  ความหลง  ความไม่รู้พระสัทธรรม  นี้มีโทษมาก  ทำให้เราหลงไปทำบาปตกนรกเสียย่ำแย่  เราต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารกันมานับชาติไม่ถ้วน  ทนทุกข์กันตลอดมาก็เพราะโมหะนี่เอง  และแถมเจ้าโมหะความหลงนี้ยังคลายช้าด้วย  คนลงไม่รู้จักบุญบาปละก็  กว่าจะแก้ไขได้ท่านว่าหืดขึ้นคอเลย  บางทีก็ต้องรอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อ ๆ  ไปมาโปรด  ก็ยังไม่รู้ว่าจะแก้หายหรือเปล่า


ข้อควรปฏิบัติ

เราควรทราบว่ากิเลสทั้ง ๓ ประเภทนี้  ตราบใดถ้ายังไม่ถูกประหารจนหมดสิ้น  มันสามารถกลับฟูและเจริญงอกงามอีกได้  เพราะฉะนั้น  จึงควรศึกษาธรรม  ฟังธรรมจนเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อน  แล้วจึงอบรมเจริญสติเนื่อง ๆ  รักษาศีล ๕  ตั้งใจฝึกสมาธิภาวนาไปตามลำดับขั้นตอน  จนกระทั่งจิตมีความสงบควรแก่การงาน  ตั้งมั่นได้นาน  เกิดสติปัญญาระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง  ไม่ประมาท  หมั่นฝึกอย่างต่อเนื่อง  หมั่นสะสมกุศลให้มากยิ่งขึ้น  เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมแล้ว  สักวันหนึ่งจิตก็อาจจะหลุดพ้นจากธุลีกิเลส  สามารถบรรลุธรรมขั้นบรมสุขได้เช่นกัน



....................................





วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๓๓ การเห็นอริยสัจ


                                   ความจริง             อันประเสริฐยิ่ง            มีสี่     
                                   ใครจะหนี             ทุกข์กายใจ                ไปได้
                                   ทุกข์ประจำ          เป็นธรรมดา                ไซร้     
                                   ทุกข์จรใคร่          ไตร่ตรอง                     ด้วยปัญญา
                                   ตัณหาสาม           เหตุแห่ง                       สมุทัย     
                                   เป็นเพื่อนใกล้      หลอกใช้                      ทุกเวลา
                                   ทุกข์ดับได้           ด้วยหมั่น                      ภาวนา    
                                   ด้วยมรรคา          ทางตรง                       มีองค์แปด


อริยสัจจ์  ๔  คือ  อะไร ?

อริยสัจจ์  ๔    คือ  ความจริงอันประเสริฐ   
ความจริงที่ทำให้บุคคลผู้นั้นเป็นผู้ประเสริฐ  มี ๔ ประการ  ดังนี้

อริยสัจจ์ที่ ๑  ทุกข์  คือ  ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่าง ๆ  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพบความจริงว่า  สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนตกอยู่ในกองทุกข์  ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็มีทุกข์ทั้งนั้น  จะแตกต่างกันคือ  บางคนมีทุกข์น้อย บางคนมีทุกข์มาก  ว่าแต่จะมีปัญญารู้ทุกข์หรือเปล่าเท่านั้น  

พระองค์ได้ทรงแบ่งทุกข์ออกเป็น  ๒  ลักษณะ  ดังนี้

              ๑.  สภาวทุกข์  คือ  ทุกข์ประจำ  เป็นสภาพธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย  เพราะเป็นสภาพธรรมดาของสัตว์  เมื่อเกิดมาแล้วต้องมี  ทุกช์ชนิดนี้มี ๓ ประการ  ได้แก่

                        -  ชาติ   คือ  การเกิด

                        -  ชรา  คือ  ความแก่

                        -   มรณะ  คือ  การตาย

              ๒.  ปกิณณกทุกข์  คือ ทุกข์จร  เป็นทุกข์ที่จากจิตยังไม่รับการฝึกอบรมเจริญสติ  ไม่มีสติคุ้มครองจิต  ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง  จิตไหลไปตามอารมณ์ที่มากระทบทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กายและใจ  จึงเกิดทุกข์ใจหรือโทมนัสเวทนาได้  ผู้ฝึกอบรมเจริญสติอยู่เนื่อง ๆ   ในชีวิตประจำวันสติย่อมเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้บ่อย ๆ  ย่อมจะมีทุกข์ใจน้อยลงได้

                         ทุกข์จรมี  ๘  ประการ  ดังนี้

                          -  โสกะ   ความโศก ความแห้งใจ  ความกระวนกระวายใจ

                          -  ปริเทวะ   ความคร่ำครวญรำพัน

                          -  ทุกขะ   ความเจ็บไข้ได้ป่วย

                          -  โทมนัสสะ   ความน้อยใจ  ขึ้งเคียด

                          -  อุปายาสะ   ความท้อแท้กลุ้มใจ  ความอาลัยอาวรณ์

                          -  อัปปิเยหิ สัมปโยคะ   ความขัดข้องหมองมัว  ตรอมใจ  
                              จากการประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก 

                          -  ปิเยหิ วิปปโยคะ   ความโศกศัลย์โศกเศร้าเมื่อพลัดพรากจากของรัก

                          -  ยัมปิจฉัง นลภติ   ความหม่นหมองจากการปรารถนาสิ่งใดแล้ว  ไม่ได้สิ่งนั้น

      
อริยสัจจ์ ๒  สมุทัย  คือ  สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์  ผู้ไม่รู้สภาพธรรมตามความจริงที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ  ย่อมไม่สามารถรู้เหตุแห่งความทุกข์ได้  เพราะเหตุว่าการรู้นั้นต้องรู้ด้วยปัญญาตามลำดับขั้น  ด้วยการอบรมเจริญศีล  สมาธิ  ปัญญา  

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประจักษ์แจ้งในอริยสัจจ์ว่า  เหตุของทุกข์ทั้งหลายนั้น  มาจาก ตัณหา  คือ ความทะยานอยากในใจของเราเอง  แบ่งได้  ๓  ประเภท  ดังนี้

๑.  กามตัณหา  ความติดข้อง  ต้องการ  ความยินดี  ความพอใจ  ปรารถนาในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  ธรรมารมณ์

๒.  ภวตัณหา  ความยินดีพอใจในความมีความเป็น  รวมทั้งความยินดีในภพชาติ  การเกิด

๓.  วิภวตัณหา  ความอยากในความไม่มีไม่เป็น


อริยสัจจ์ที่ ๓  นิโรธ  คือ  ความดับทุกข์  เป็นสภาพจิตที่หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง  
หมดตัณหาหมดทุกข์  มีจิตสงบตั้งมั่นมีความสุขล้วน ๆ  ไม่มีกิเลสเจือปน  ไม่มีเกิดไม่มีดับ  
สภาพธรรมเช่นนี้  เรียกว่า  นิพพาน


อริยสัจจ์ ๔  มรรค  คือ  วิธีปฏิบัติเพื่อไปสู่ความดับทุกข์  มี ๘  ประการ  ดังนี้

๑.  สัมมาทิฏฐิ  มีความเห็นชอบ  คือ  ความเห็นถูกต้อง  เช่น  เห็นว่าพ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง  ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริง  โลกนี้โลกหน้ามีจริง  นรกและสวรรค์มีจริง ฯลฯ  เบื้องสูงคือ  เห็นทุกข์  เหตุแห่งทุกข์
ความดับทุกข์และวิธีปฏิบัติเพื่อดับทกุข์

๒.  สัมมาสังกัปปะ  มีความคิดชอบ  คือ คิดออกจากกาม  คิดไม่พยาบาท  คิดไม่เบียดเบียน  ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

๓.  สัมมาวาจา  เจรจาชอบ  คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียดให้เขากแตกแยก  ไม่พูดคำหยาบ  ไม่พูดเพ้อเจ้อ  อวดอ้างความดีของตัวหรือทับถมผู้อื่น

๔.  สัมมากัมมันตะ  ทำการงานชอบ  คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์  และประพฤติพรหมจรรย์  เว้นจากการเสพกาม

๕.  สัมมาอาชีวะ  เลี้ยงชีพชอบ  คือ เลิกการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด  ประกอบอาชีพในทางที่ถูกต้อง

๖.  สัมมาวายามะ  มีความเพียรชอบ  เพียรป้องกันบาปอกุศล  ที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น  เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป  เพียรสร้างกุศลคุณความดีที่ยังไมาเกิดให้เกิดขึ้น และเพียรบำรุงกุศลคุณความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น

๗.  สัมมาสติ  มีความระลึกชอบ  คือ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน มีสติระลึกรู้ได้เนื่อง  หมั่นระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ 

๘.  สัมมาสมาธิ  มีใจตั้งมั่นชอบ  คือ มีจิตสงบตั้งมั่น  สงบจากอกุศลทั้งหลาย  เห็นกายในกาย  เวทนาในเวทนา  จิตในจิต  ธรรมในธรรม  จนบรรลุขั้นฌานจิตตามลำดับ  จนเข้าถึงธรรมกาย  จากสมาธิระดับโลกียะไปสู่สมาธิที่เป็นระดับโลกุตตระ

มรรค ๘  นี้ ถ้าขยายออกไปแล้ว ก็จะได้แก่คำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ถ้าย่อก็จะได้แก่ไตรสิกขา  หัวใจพระพุทธศาสนา  มีดังนี้ ศีล   สมาธิ   ปัญญา

มรรค ๘  นี้  ให้ปฏิบัติไปพร้อมกันทั้ง ๘ ข้อ   เป็นการฝึกจิตตามวิถีของเหตุผล  ตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า                   





มงคลที่ ๓๕ ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม


                                ทุกคนหนี             ไม่พ้น               โลกธรรม      
                                เพราะมีกรรม       เป็นเครื่อง         กำกับไว้                            
                                สรรพสิ่ง               ทั้งหลาย           แปรปรวนได้    
                                ผู้ใดไม่                 หวั่นไหว            ย่อมเป็นสุข
                                ลาภยศ                 สรรเสริญสุข     ทุกคนปอง   
                                ด้วยว่ามอง          ไม่เห็น               เหตุแห่งทุกข์
                                ได้มา                    เสื่อมไป            ใช่เรื่องสนุก    
                                จงรีบลุก               ปลุกตน             ฝึกฝนจิต
                                หมั่นศึกษา           พระธรรม          คำสั่งสอน   
                                เพียรละถอน        ความคิด           ความเห็นผิด
                                รู้ไตรลักษณ์         รู้ธรรม               นำชีวิต     
                                จะพิชิต                ชัยชั้นเลิศ         ประเสริญเอย


จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม  คือ  อะไร ?

จิตหวั่น  คือ  ความหวั่นหวาดกังวล  กลัวว่าจะประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ  
                     กลัวว่าจะประสบกับความผิดหวัง

จิตไหว  คือ  ความปรารถนาอยากได้สิ่งที่รักที่ชอบใจ   

โลกธรรม  คือ  เรื่องราวที่เกิดขึ้นประจำโลก  ใคร ๆ  ก็ต้องพบ  หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย    แม้แต่พระอรหันตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังต้องทรงประสบกับโลกธรรม  

โลกธรรม  มีอยู่ ๘ ประการ    
แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ  ได้แก่

ก.  ฝ่ายที่คนทั่วไปปรารถนาอยากได้  คือ

๑.  ได้ลาภ  คือ  การได้ผลประโยชน์ เช่น ได้ทรัพย์ ได้บุตร-ภรรยา ได้บ้าน ได้ที่ดิน  
      ได้เพชรนิลจินดา           ต่าง ๆ เป็นต้น

๒.  ได้ยศ  คือ  การได้รับตำแหน่ง  ได้รับฐานะ ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต

๓.  ได้สรรเสริญ  คือ  การได้ยินได้ฟังคำชมเชย  คำยกยอ  คำสดุดีที่คนอื่นให้เรา

๔.  ได้สุข  คือ  ได้รับความสบายกายสบายใจ  ได้ความเบิกบานร่าเริง  
      ได้ความเบินเทิงใจ  ทั้ง ๔ อย่างนี้  เป็นเรื่องที่คนทั่วไปชอบ  ยังไม่ได้ก็คิดหา  
       ครั้นหาได้แล้วก็คิดหวง  หวงมาก  ๆ  เข้าก็หึง  การที่จิตมีอาการหา-หวง-ห่วง-หึง  
      นี่แหละ  เรียกว่า  จิตไหว


ข.  ฝ่ายที่คนทั่วไปกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตน  คือ

๑.  เสื่อมลาภ  คือ  ผลประโยชน์ที่ได้มาแล้วเสียไป  เช่น  เสียทรัพย์สิน  เสียที่อยู่อาศัย  เสียคนที่รัก  เสียญาติพี่น้อง  เสียลูกรัก  ภรรยา-สามีที่รัก

๒.  เสื่อมยศ  คือ  ถูกปลดหรือถูกลดความเป็นใหญ่  ถูกถอนออกจากอำนาจ  ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

๓.  ถูกนินทา  คือ  ถูกตำหนิติเตียน  ถูกด่าว่าในที่ต่อหน้าและลับหลัง  

๔.  ตกทุกข์  คือ  ได้รับความทุกข์ทรมาน  ลำบากสบายทางกายหรือทางใจ


จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม  หมายถึง  อะไร ?

จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม  หมายถึง  สภาพจิตของบุคคลผู้ได้ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว  มีจิตตั้งมั่นแน่วแน่ดุจขุนเขา  เป็นอุเบกขาวางเฉยต่ออารมณ์ภายนอกที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ

เมื่อประสบกับความเสื่อมลาภ  ยศ  ถูกนินทา  ตกทุกข์  จิตก็ไม่หวั่นไหว

เมื่อประสบกับการได้ลาภ  ยศ  สรรเสริฐ  เป็นสุข   จิตก็ไม่ไหวั่นไหว

เพราะเหตุว่า  จิตรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ  ว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยง  ไม่ยั่งยืน  ได้มาแล้วก็เสื่อมสูญไปเป็นธรรมดา  คำสรรเสริฐ  นินทา  สุขและทุกข์  ทุกคนต้องประสบในชีวิตประจำวัน  แล้วในที่สุดก็ดับไปตามเหตุปัจจัย  ตามกฎของไตรลักษณ์ทั้งสิ้น


ไตรลักษณ์  หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  สามัญลักษณะ  คือ  ลักษณะประจำของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก

สามัญลักษณะหมายถึงลักษณะ  ๓  ประการ  คือ  

๑.  อนิจจัง   หมายถึง  ความไม่เที่ยง  ไม่แน่นอน  เปลี่ยนแปลงแปรปรวน  เสื่อมไปเรื่อย ๆ  เป็นธรรมดาของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย

๒.  ทุกขัง   หมายถึง  ความทุกข์อันเกิดจากความไม่แนนอน  ความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ  ไม่คงที่ 

๓.  อนัตตา  หมายถึง  ความไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล  บังคับบัญชาไม่ได้  ไม่อยู่ใต้อำนาจของผู้ใด  

ปุถุชนผู้มีกิเลสหนาอยู่ไม่สามารถมองเห็นไตรลักษณ์ได้  จึงมีความติดข้องยินดีบ้างยินร้ายบ้าง  และหวั่นไหวในโลกธรรม  ต้องอยู่กับกองทุกข์ตลอดมา

ส่วนบุคคลผู้ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว  ท่านอยู่เหนือกฏไตรลักษณ์  จิตสงบมั่นคง  มีความสุขยิ่ง  ดับภพชาติสิ้น  ไม่มีความหวั่นไหวต่อโลกธรรมอีกต่อไป  


ข้อเตือนใจ

โบราณท่านสอนว่า  ถ้าอยากจะรู้ว่าใครใครเมื่อถึงคราวตกทุกข์ได้ยาก  แล้วจะพิลาาปรำพันโอดครวญแค่ไหน  ให้ดูขณะที่คนนั้นเวลาดีใจ  ได้ของถูกใจ  ก็หัวเราะฮ่า ๆ  ก็รู้เลยว่า  เมื่อถึงคราวเสียใจ  เสื่อมลาภ  เขาจะร้องไห้โฮ ๆ เป็นช้างร้องเชียว

ตรงกันข้าม  ถ้าเวลาดีใจเขาแค่ยิ้ม ๆ  ก็รู้เลยว่าถึงตอนเสียใจ  อย่างมากก็คงจะแค่กัดฟันหรือนิ่งไปซักพักแล้วก็หาย นี่เป็นอย่างนี้

ท่านจึงเตือนใจไว้ว่า  "ถ้าดีใจก็จงยิ้มเพียงมุมปากเดียว  เมื่อถึงคราวเสียจะได้ไม่ถึงกับร้องไห้"  และยังให้กำลังใจแก่ผู้ตกทุกข์อีกว่า


                                 "ยิ่งมืดเท่าไร  แสดงว่ายิ่งดึก  ยิ่งดึกเท่าไร  ก็แสดงว่ายิ่งใกล้สว่าง"

เพราะฉะนั้น  เมื่อประสบกับความทุกข์  ความเสื่อมลภ  เสื่อมยส  ถูกนินทาปานใด  ก็ควรสู้ทนทำความดีต่อไปเถิด  ยิ่งหนักมากขึ้นแสดงว่ามันใกล้จะพ้นแล้ว  เหมือนยังดึกก็ยิ่งใกล้สว่าง


.......................................










วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๓๖ จิตไม่โศก



                                    ผู้ใด                    มีรัก              ผู้นั้นมีทุกข์    
                                    เหมือนติดคุก    จุกเจา           เฝ้ารอคอย
                                    เวลาผ่านไป      อย่างไร้         ร่องรอย   
                                    สุดท้อถอย        น้อยใจ          ในชีวิต
                                    ผู้ไม่มีรัก            ผู้นั้น              ย่อมสุข    
                                    ไม่ต้องทุกข์      ยากนาน        รำคาญจิต
                                    จงหมั่น              ฝึกฝนตน      อยู่เนื่องนิตย์    
                                    เพื่อพิชิต           จิตใจ             ให้ไร้โศก


จิตโศก  คือ  อะไร  ?

คำว่า  โศก  มาจากภาษาบาลี  โสกะ  แปลว่า  แห้ง

จิตโศก  หมายถึง  สภาพจิตที่แห้งผาก  เหมือนดินแห้ง  ใบไม้แห้งหมดความชุ่มชื่น  เนื่องจากไม่สมหวังในความรัก  ทำให้มีอาการเหี่ยวแห้งหม่นไหม้  โหยหาขึ้นในใจ  ใจซึมเซาไม่อยากรับรู้อารมณ์อื่นใด ไม่อยากทำการงาน

                                         "เปมโต  ชายตี  โสโก

                                                       ความโศกเกิดจากความรัก"

                                                                           ขฺ. ธ. ๒๕/๒๖/๔๓



ไม่ว่าเป็นคน  สัตว์หรือสิ่งของก็ตาม  ย่อมทำให้เกิดความโศกเศร้าได้ทั้งนั้น  เพราะเหตุว่าจิตเข้าไปติดข้องยินดีพอใจและยึดในสิ่งเหล่านั้น  ว่าเป็นตัวตน  ของตน  เมื่อของนั้นเสื่อมสูญไปหรือพลัดพรากจากไป  ใจก็จะเกิดความโหยหา  ซึมเซา  เหี่ยวแห้ง  เป็นทุกข์


เหตุที่ทำให้เกิดจิตโศกมี  ๒  ประการ  ดังนี้

๑.  เกิดจากความรัก  รักคน   รักสัตว์   รักสิ่งของ   เมื่อมีความรักในคน  ในสัตว์และสิ่งของต่าง ๆ  ไม่ต้องการให้ของที่ตนรักจากไป  ด้วยเหตุพุพังไป  เสื่อมสูญไป  หรือตายจากไป  แต่ไม่มีเลยสักสิ่ง  ที่จะอยู่จีรังยั่งยืน  สรรพสิ่งทั้งหลายอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ทั้งสิ้น  เพราะฉะนั้น  เราผู้ยังเป็นปุถุชนกันอยู่จึงต้องประสบกับทุกข์  ความโศกอยู่ร่ำไป  ตราบใดที่จิตยังไม่บรรลุธรรม  ถึงขั้นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์

๒.  เกิดจากความใคร่  ความกำหนัด  ความปรารถนาอันเกิดจากอารมณ์ต่าง ๆ  เช่น  สี  เสียง  กลิ่น  รส โผฏฐัพพะ  และธรรมารมณ์  อันเป็นเหตุให้เกิดความโศกได้  ถ้าไม่ได้เสวยอารมณ์นั้น ๆ  ตามต้องการ


ผู้ใดไม่มีสิ่งอันเป็นที่รัก  ผู้นั้นก็ไม่มีความทุกข์  เรากล่าวว่าผู้นั้น  ไม่มีความเศร้าโศก  ปราศจากกิเลสธุลี
ไม่มีอุปายาส  คือ ความตรอมใจ  ความกลุ้มใจ

                                                                               ขฺ. อ. ๒๕/ ๑๗๖/๒๒๕ 

                              
                                        โบราณท่านสรุปเป็นข้อเตือนใจไว้ว่า

                                   "มากรักนักมากน้ำตา   หมดรักก็หมดน้ำตา

                                       มากรักก็มากทุกข์   หมดรักก็หมดทุกข์


ข้อควรปฏิบัติ

ผู้ที่ไม่มีจิตโศกเศร้า  คือ  พระอนาคามีและพระอรหันต์เท่านั้น  เพราะฉะนั้น  การที่จะไม่ให้มีจิตโศกเศร้าเกิดขึ้น นั้น  ก็จะต้องศึกษาพระธรรมจนเข้าใจถูกต้อง  มีความเห็นถูกต้อง  แล้วจึงอบรมเจริญสติเนื่อง ๆ ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องด้วย   หมั่นฝึกระลึกรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม  ที่กำลังปรากฏทางตา  หู  จมูก  ลิ้น  กายและใจ  ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป  ไม่ใช่ตัวตน  สัตว์  บุคคล  เรา  เขา  ฝึกบ่อย  ๆ  จนกระทั่งสติมีกำลังแคล่วคล่องว่องไว  ปัญญาก็จะเกิดขึ้นทำกิจของปัญญาเมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปัญญาเกิด  สติเป็นเพียงเครื่องกั้นกระแสกิเลส   ปัญญาเท่านั้นที่จะประหารกิเลสได้โดยเด็ดขาด   ดังนั้น  ผู้มีจิตไม่โศกเศร้าก็คือผู้ทำนิพพานให้แจ้งแล้วนั่นเอง  แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่ได้สะสมปัญญามาอย่างต่อเนื่องหลายภพชาติแล้ว  จึงจะเกิดปัญญารู้ประจักษ์แจ้งในพระธรรมได้


.............................................













วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๓๔ ทำนิพพานให้แจ้ง



                                กามเป็นเหตุ            แห่งทุกข์             ทั้งมวล   
                                ทุกท่านควร            ศึกษา                   หาลู่ทาง
                                ชำระ                       ความเห็นผิด       จิตเป็นกลาง    
                                ฝึกปล่อยวาง         ให้ว่าง                  จากตัวตน  
                                ควรมี                      วิหารธรรม            เป็นเครื่องอยู่     
                                ระลึกรู้                     ตามจริง               ไม่สับสน
                                เพื่อรู้                       ประจักษ์แจ้ง        ต้องอดทน        
                                บรรลุผล                 แน่แท้                    คือนิพพาน


นิพพาน  คือ  อะไร ?

นิพพาน  แปลว่า  ความสูญ  ความพ้น  คือ  สูญจากความทุกข์  ดับทุกข์  ดับกิเลส  พ้นจากทุกข์  พ้นจากภพสาม 

นิพพาน  เป็นสภาพธรรมที่อยู่เหนือกฏไตรลักษณ์  ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์  ไม่มีเกิดไม่มีดับ  ไม่มีแก่  ไม่มีเจ็บ  ไม่มีตาย  เป็นสภาพธรรมที่สุขยิ่ง  ดั่งพระพุทธพจน์กล่าวไว้                  


                                    "นิพพานํ   ปรมํ   สุขํ  นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"

                                                       ม.ม.๑๓/๒๘๗/๒๘๑


"ความเกิดแห่งนิพพานใดย่อมปรากฏ  ความเสื่อมแห่งนิพพานนั้นมิได้มี  ย่อมปรากฏอยู่โดยแท้  นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยง  ยั่งยืน มั่นคง มิได้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา  เพราะฉะนั้น  จึงชื่อว่า  อันอะไร ๆ  นำไปไม่ได้  ไม่กำเริบ"  ขฺ.จฺ.๓๐/๖๕๙/๓๑๕


"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ  วิญญาณัญจายตนะ   อากิญจัญญายตนะ  เนวสัญญานาสัญญายตนะ  โลกนี้  โลกหน้า  พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสอง  ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น  ดูก่อน  ภิกษุทั้งหลาย  เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า  เป็นการมา เป็นการไป  เป็นการตั้งอยู่  เป็นการจุติ  เป็นการอุบัติ  อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้  มิได้เป็นไป  หาอารมณ์มิได้  นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์"  ขฺ. อฺ. ๒๕/๑๕๘/๒๐๖


"โลกนี้แลโลกหน้า  เราผู้รู้อยู่  ประกาศดีแล้ว  เราเป็นผู้ตรัสรู้เอง  ทราบชัดซึ่งสรรพโลกทั้งที่เป็นโลกอันมารถึงได้  ทั้งที่เป็นโลกอันมีมัจจุถึงไม่ได้  ด้วยความรู้ยิ่ง  จึงได้เปิดอริยมรรคอันเป็นประตูแห่งอมตะ เพื่อให้ถึงนิพพานอันเป็นแดนเกษม  กระแแสแห่งมารอันลามก  เราตัดแล้ว กำจัดแล้ว  ทำให้ปราศจากความเหิมแล้ว  ดูก่อน  ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอจงเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์  ปรารถนาถึงธรรมอันเป็นแดนเกษมเถิด"  ม.มูล. ๑๒/๓๙๑/๔๒๑


"ภิกษุทั้งหลาย  เปรียบเหมือนแม่น้ำบางสายในโลกที่ไหลไป  ย่อมไปรวมยังมหาสมุทรและสายฝนยังตกลงมาจากอากาศ  ความพร่องหรือความเต็มของนิพพานธาตุ  ย่อมไม่ปรากฏเพราะเหตุนั้น  แม้ข้อที่ภิกษุจำนวนมาก  ถ้าแม้ยังปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ความพร่องหรือความเต็มของนิพพานธาตุ  ย่อมไม่ปรากฏเพราะเหตุนั้น  นี้ก็เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยนี้  เป็นข้อที่ ๕  ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้ว  พากันชื่นชมในธรรมวินัยนี้ ฯ "  วิ. จฺลฺล.  ภาค ๒  ๗/๔๖๑/๒๒๗


"นิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว  เป็นสุขดีหนอ  ไม่มีความโศก  ปราศจากธุลี  ปลอดโปร่งเป็นที่ที่ความทุกข์ดับไป"  ขฺ.  เถร.๒๖/๓๐๙/๓๐๕


ทหารเมื่ออยู่ในหลุมหลบภัย  ย่อมปลอดภัยจากอาวุธร้ายของศัตรูฉันใด  ผู้ที่มีใจจรดนิ่งอยู่ในนิพพาน  ก็ย่อมปลอดภัยจากทุกข์ทั้งปวงฉันนั้น


นิพพานมีอยู่  ๒  ประเภทใหญ่  ๆ  ดังนี้

๑.  สอุปาทิเสสนิพพาน  เรียกว่า  นิพพานเป็น  อยู่ในศูนย์กลางธรรมกายในตัวของเราทุกคน  ที่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘  สามารถเข้าถึงนิพพานได้ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่  ยังเป็น ๆ อยู่  เป็นนิพพานของพระอริยเจ้าผู้ละกิเลสได้แล้ว  แต่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลกต่อไป  พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเข้านิพพานเช่นนี้ได้เมื่อวันที่พระองค์ตรัสรู้

๒.  อนุปาทิเสสนิพพาน  เรียกว่า  นิพพานตาย  เป็นเหตุว่างอยู่นอกภพสาม  ผู้ที่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์  เมื่อเบญจขันธ์ดับ (กายเนื้อแตกทำลายลง)  เหลือแต่ธรรมขันธ์  (ธรรมกาย)  ก็จะถูกอายตนนิพพานนี้  ดึงดูดให้ไปปรากฏที่นั่น  เสวยความสุขอันเป็นอมตะ  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อปรินิพพานแล้ว  ธรรมกายของพระองค์ก็ไปปรากฏประทับอยูที่อายตนนิพพานนี้เอง  โดยมีธรรมกายของพระอรหันตสาวกอยู่ล้อมรอบ


ผู้ที่สามารถทำนิพพานให้แจ้งได้

ผู้ที่จะทำนิพพานให้แจ้งได้ก็คือ  พระอริยบุคคลทุกระดับ  ทั้งพระอรหัน  พระอนาคามี  
พระสกิทาคามี  พระโสดาบัน  รวมทั้งโคตรภูบุคคล

บางท่านอาจจะสงสัยว่า  โคตรบุคคลซึ่งยังไม่หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์  แต่ก็เข้านิพพานได้  เหตุที่โคตรภูบุคคลเข้านิพพานได้  เพราะขณะใดที่เมื่อจิตจรดเข้าพระนิพพาน  ขณะนั้นก็หมดทุกข์  กิเลสทำอะไรไม่ได้  แต่ทว่าจิตยังไม่มีกำลังพอที่จะจรดอยู่ในนิพพานได้ตลอดเวลา  เมื่อไรจิตรู้อารมณ์ภายนอกที่มากระทบ  เมื่อนั้นก็ยังมีความทุกข์อยู่  


โคตรภูญาณเห็นนิพพานได้  แต่ยังตัดกิเลสไม่ได้

" ถึงแม้ว่า  โคตรภูญาณจะเห็นนิพพานก่อนกว่ามรรคก็จริง  ถึงกระนั้นก็ไม่เรียกว่า  ทัสสนะ  เพราะได้แต่เห็น  แต่ไม่มีการละกิเลสอันเป็นกิจที่ต้องทำ"  สารัตถทีปนี  อรรถกถาสังยุตตนิกาย เล่ม ๓ หน้า ๑๑๕


โคตรภูญาณละกิเลสได้ชั่วคราว

" การละภาวะที่มีสังขารเป็นนิมิตด้วยโคตรภูญาณนี้  ชื่อว่า  ตถังคปหาน  (ละชั่วคราว)"


ตัวของเราจะเข้านิพพานได้หรือไม่ ?

คำตอบคือ  "ได้"  โดยจะต้องตั้งใจเจริญภาวนาไปจสเข้าถึงโคตรภูญาณ  เป็นโคตรภูบุคคล  จากนั้น
ฝึกต่อไปจนเข้าถึงภาวะความเป็นอริยบุคคลที่สูงขึ้นไปตามลำดับ  ก็จะเห็นอริยสัจจ์และทำนิพพานให้แจ้งได้ละเอียดลึกซึ้งขึ้น  ในที่สุดก็จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์  ซึ่งไม่ยากจนเกินไปที่เราจะปฏิบัติได้  เพราะถ้ายากเกินไปแล้ว  ก็คงจะไม่มีพระอรหันเป็นล้าน ๆ  รูปในสมัยพุทธกาล  ถ้านิพพานนี้  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปได้พระองค์เดียว  คนอื่นไปไม่ได้เลย  ก็จะบอกว่ายาก  แต่จริง ๆ  แล้วมีผู้ที่ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์  ตั้งใจฝึกสมาธิจนเกิดปัญญาเข้านิพพานได้มากมาย  แสดงว่าไม่ยากจนเกินไป  แต่แน่นอนก็คงไม่ง่าย  เพราะถ้าง่ายเราก็คงเข้าไปตั้งนานแล้ว

เพราะฉะนั้น  ตั้งใจฝึกตัวเองกันเข้า  วันหนึ่งเราก็จะเป็นคนหนึ่งที่ทำได้  แล้วเข้านิพพานได้  ตอนนี้ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้  แต่ว่ายังไม่ได้ทำต่างหาก  อย่าเพิ่งไปกลัว  อย่าไปท้อใจเสียก่อน  ว่าจะทำไม่ได้  ถ้าทำจริงแล้วต้องได้


อานิสงส์ของการทำพระนิพพานให้แจ้ง

๑.  ทำให้จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

๒.  ทำให้จิตไม่โศก

๓.  ทำให้จิตปราศจากธุลี

๔.  ทำให้จิตเกษม

"ไฟใดเสมอด้วยราคะไม่มี  โทษใดเสมอด้วยโทสะไม่มี  ทุกข์ใดเสมอด้วยเบญจขันธ์ไม่มี  สุขใดเสมอด้วยความสงบไม่มี  ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง  สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง  พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง"  ขฺ. ธ.๒๕/๒๕/๔๒


................................




                                   

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มงคลที่ ๓๒ ประพฤติพรหมจรรย์




                               การประพฤติ             อันประเสริฐ           อย่างพรหม    
                               คืออบรมจิต               ไม่ติด                     ในกาม
                               กามเปรียบเหมือน     สมบัติ                    อันงดงาม      
                               ชั่วครู่ยาม                  เขาตาม                 เอาคืนไป
                               สุดแสน                      จะเสียดาย             นั่งฟูมฟาย             
                               น่าละอาย                   อดสู                       อยู่ทำไม
                               ฝึกพูดดี                     ทำดี                       คิดดีไว้       
                               จิตผ่องใส                  กายใน                   ดุจดั่งพรหม
                               ผู้ครองเรือน               ต้องรักษา              ศีลห้า   
                               ท่านบอกว่า               ชาติหน้า                ไม่ตรอมตรม
                               สมาธิ                          ตั้งมั่น                     ปัญญาคม    
                               กามารมณ์                 ดับได้                     ใจกระจ่างเอย


ประพฤติพรหมจรรย์  คือ  อะไร ?

การประพฤติพรหมจรรย์  หมายถึง  การประพฤติธรรมอันประเสริฐหรือการประพฤติตนอย่างพระพรหม  หมายถึง  การประพฤติตนตามคุณธรรมต่าง ๆ  ตามหลักพระพุทธศาสนา  เพื่อป้องกันมิกิเลสฟู
กลับขึ้นมาอีก  จนกระทั่งหมดกิเลสโดยผ่านขั้นตอนการปฏิบัติตามภูมิขั้นของจิต 


ทำไมต้องประพฤติพรหมจรรย์  ?

การประพฤติพรหมจรรย์  ก็เพื่อละอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน  มีกามราคะ  ความขัดเขืองใจ ความเห็นผิด  ความลังเลสงสัย  ความถือตัว  ความปรารถนาในภพ  ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง  คือ อวิชชา  และเพื่อความดับทุกข์ทั้งปวง  อันเป็นหนทางบรรลุธรรมในขั้นสูงสุด  



ภูมิชั้นนของจิต  
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า  จิตของคนแบ่งตามภูมิชั้นได้  ๔  ระดับ  
ตามการฝึกฝนของตนเอง  คือ

๑.  กามาวจรภูมิ  เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามารมณ์  ยังติดข้อง ยินดี พอใจอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ได้แก่  จิตของบุคคลทั่วไป

๒.  รูปาวจรภูมิ  เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปารมณ์  มีความสุขอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาน  ได้แก่  ภูมิจิตของผู้ที่ฝึกอบรมเจริญสมาธิตั้งมั่นจนกระทั่งเข้าถึงรูปฌาน  มีความอิ่มเอิบในวิหารธรรม  เป็นความสุขที่ประณีตกว่ากามารมณ์  เป็นเหมือนพระหรมบนดิน  เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว  ก็จะปฏิสนธิเป็นรูปพรหมในพรหมโลก

๓.  อรูปาวจรภูมิ  เป็นชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปารมณ์  มีความสุขอยู่ในอารมณของอรูปฌาน  ได้แก่  จิตของผู้ที่เจริญสมาธิตั้งมั่นจนกระทั่งได้อรูปฌาน  มีความสุขประณีตยิ่งกว่าอารมณ์ของรูปฌานอีก  เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว  ก็จะปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมในพรหมโลก

๔.  โลกุตตรภูมิ  เป็นชั้นที่พ้นจากโลกแล้ว  ได้ก่  ภูมิจิตของอริยบุคคล  มีความสุขอันละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง  เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีเกิดดับ


การประพฤติพรหมจรรย์  มีความมุ่งหมาย  อย่างไร ?

การประพฤติพรหมจรรย์  มีความมุ่งหมายสุดยอดในพระพุทธศาสนา  คือ  ให้ตัดโลกียวิสัย  ตัดความติดข้อง ยินดี พอใจในอารมณ์ต่าง ๆ  เพื่อมุ่งสู่โลกุตตรภูมิ  โดยการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘  เพื่อตัดกามารมณ์  รูปารมณ์ และอรูปารมณ์   ตามลำดับของกำลังปัญญา


ลักษณะการประพฤติพรหมจรรย์  แบ่งได้ดังนี้

๑.  การให้ทาน   คือ การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น

๒.  การขนขวายในการทำประโยชน์   หมายถึง  การช่วยเหลือผู้อื่นด้วย   

๓.  การรักษาศีล ๕   คือ  เพื่อป้องการกระทำผิดทางกายและทางวาจา

๔.  มีเมตตา    คือ เป็นมิตรไมตรี  เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกับทุกคน

๕.  พอใจแต่ในคู่ครองของตน   คือ  ไม่นอกใจคู่ครองของตน

๖.  เว้นเสพเมถุน  ผู้อยู่ในเพศนักบวชไม่ควรเสพเมถุน

๗.  ทำความเพียร  คือ  ความพยายามพรากเพียรเพื่อกระทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้น  เพียรละความชั่ว

๘.  รักษาศีลอุโบสถ  คือ  การรักษาศีล ๘  ให้บริสุทธิ์

๙.  การบำเพ็ญมรรค  มรรคอันประกอบด้วยองค์  ๘  ได้แก่  สัมมาทิฏฐิ  สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  สัมมาอาชีวะ  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ  และสัมมาสมาธิ  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า  อริยมรรค  เป็น  เบื้องต้นของพรหมจรรย์  ส่วนความสิ้นราคะ  โทสะ  โมหะ เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์

๑๐.  การปฏิบัติธรรมทุกข้อในพระพุทธศาสนา


อานิสงส์การประพฤติพรหมจรรย์

๑.  ทำให้ปลอดโปร่งใจ ไม่ต้องกังวลหรือระแวง

๒.  ทำให้เป็นอิสระ เหมือนนกน้อยในอากาศ

๓.  ทำให้มีเวลามากในการทำความดี

๔.  ทำให้เป็นที่สรรเสริญของบัณฑิตทั้งหลาย

๕.  ทำให้ ศีล สมาธิ ปัญญา เจริญรุดหน้าไม่ถอยกลับ

๖.  ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย




.......................................